“กิตงาย” หรือ กิต กฤษฎา ปิมลื้อ ทาเลนด์ในสังกัด EVOS ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอับดับต้นๆแห่งวงการอีสปอร์ตของเมืองไทย และสตรีมเมอร์จากค่าย Online Station แน่นอนว่า เวลานี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของเขา…

เขาเป็นทั้งโปรเพลเยอร์ RoV ฝีมือขั้นเทพ เคยคว้ารองแชมป์ Throne of Glory 2017 เป็นสตรีมเมอร์ เป็นยูทูปเบอร์ที่มีคนติดตามมากถึง 3.36 ล้าน คน และเป็นนักธุรกิจที่เพิ่งเปิดแบรนด์เสื้อผ้าของตนเองชื่อ KIT สามารถสร้างรายได้มากมายมหาศาล ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดของเด็กหมุ่มวัยเพียง 22 ปี ล้วนมีเกมเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง



ชีวิตของ กิต คือสิ่งที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน เขาได้ทำสิ่งที่ชอบให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง ได้อยู่กับสิ่งที่รักทุกเวลา เขาทำทุกอย่างได้อย่างไร เรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จน่าสนใจแค่ไหน ร่วมค้นหาคำตอบผ่านมุมมองความคิดของ “กิตงาย” กับบทความของ OneEsport ที่จะทำให้รู้จักเขามากขึ้น…

รู้จักตัวเองแล้วก้าวด้วย Passion

“ถ้ามองย้อนกลับไปตอนเด็กๆหรือก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้คิดหรอกครับว่า วันหนึ่งเราจะมาถึงจุดนี้ได้” กิต เริ่มเล่าย้อนกลับไปในวัยเด็กที่ไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งจะสามารถสร้างชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในวงการอีสปอร์ต 

กิต คลั่งไคล้การเล่นเกมตั้งแต่วัยเด็กที่ยังใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตามประสาเกมเมอร์ในสมัยนั้นมักหาความท้าทายลงแข่งรายการต่างๆ นั่นทำให้เขาต้องใช้ชีวิตยากลำบากพอสมควร เพราะต้องเดินทางไปกลับระหว่างเชียงใหม่ และกรุงเทพฯบ่อยครั้ง เพื่อมาฝึกฝีมือกับเพื่อนร่วมทีมก่อนถึงทัวร์นาเมนจริง แต่ กิต ยังคงมุ่งมั่นทำในสิ่งที่รัก และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต แม้เขายอมรับว่า ก่อนหน้านี้ยังมองไม่เห็นภาพอนาคตชัดเจนก็ตาม

“ผมไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ แต่เหมือนเมื่อมีโอกาสเข้ามา ผมรู้จักที่จะไขว่คว้าทำให้สามารถมาถึงมาจุดนี้ได้ ผมอยู่ในวงการเกมตั้งแต่เด็ก เล่นตั้งแต่ชั้นอนุบาลหนึ่งเรียกว่า ไม่มีตอนไหนที่ไม่เล่น  หากขาดเกมไปชีวิตเหมือนไม่มีอะไรทำ เกมเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีเพื่อน ถ้าไม่มีเกมก็ไม่มีอะไรทำวันๆก็อาจทำการบ้านแล้วก็นอนไม่มีอะไรผ่อนคลาย เกมทำให้มีสังคมหลายอย่างเข้ามา เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งเพื่อน , สังคม และมิตรภาพ”

“จริงๆตอนนั้นที่เริ่มแข่ง ผมแข่งไปเรื่อยๆไม่ได้หวังดังหรือมีชื่อเสียง แต่พอเล่น ROV มันมีแข่งระดับประเทศ ก็เริ่มจริงจัง ตอนแรกแข่งรายการระดับจังหวัด จากนั้นก็เป็นระดับประเทศ และได้เป็นตัวแทนสำเร็จ”

“ครอบครัวผมค่อนข้างเปิดกว้างสนับสนุนเต็มที่ จริงๆก็มีบ้างที่เขาไม่เห็นด้วย แต่ส่วนตัวผมไม่ได้บกพร่องเรื่องการเรียน หรือวาจา ว่าง่ายๆผมไม่ได้เป็นคนก้าวร้าว เขาเลยวางใจให้ทำในสิ่งที่อยากทำ ขอแค่ไม่มีปัญหามาถึงครอบครัว และการเรียนก็พร้อมสนับสนุนเสมอ”

ผลงานการเรียนของ กิต อยู่ในระดับที่ดี แม้จะชื่นชอบการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่เคยทำให้ครอบครัวหนักใจ ทำให้สามารถทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งคุณพ่อและคุณแม่ของเขาเองก็พร้อมสนับสนุนลูกชายคนนี้เต็มที่

คิดแล้วต้องกล้าทำ

หากพูดถึงมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อเกม โดยเฉพาะในสายตาพ่อแม่มักถูกมองเป็นเด็กติดเกม ไม่เอาไหน ไม่มีอนาคต ใช้เวลาเปล่าประโยชน์ ข้อโต้แย้งเล่นเกมเป็นอาชีพยิ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากอีสปอร์ตถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย

กิต เป็นหนึ่งในผู้ที่พบเจอเหตุการณ์ที่กล่าวถึง แต่เขามีทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ  เขามองว่า อีสปอร์ตคือสิ่งใหม่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจยังไม่เข้าใจ จึงเลือกอธิบาย และเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนกับว่า สิ่งที่เขาอยากจะเลือกเป็นอย่างไร แม้ในเวลานั้นยังไม่สามารถคาดเดาอนาคตตัวเองได้ว่า จะไปได้ดีแค่ไหนในวงการอีสปอร์ต

“เราต้องอธิบายให้ครอบครัวเข้าใจก่อนว่า ถ้าเราเรียนจบ และทำงานสายนั้นๆ จะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ทำอะไรให้ครอบครัวได้บ้าง อย่างบ้านผมเปิดธุรกิจรับเหมา จริงๆสายนี้ไม่ต้องเรียนสูง แต่เพียงแค่รู้วิธีจัดการก็สามารถทำได้ แต่สตรีมเมอร์รายได้มันมีถึงหกหลักซึ่งมากกว่าที่พ่อแม่ทำ”

“ผมเริ่มทำอาชีพเกี่ยวกับเกมตั้งแต่ม.6 เป็นโปรเพลเยอร์ และสตรีมเมอร์โดยตรง ผมมองว่า มันไม่ได้แย่นะกับเด็กชั้นมัธยมที่มีรายได้ถึง 30,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต่อยอดไปสู่อาชีพอื่นได้เช่น การเป็นยูทูปเบอร์ที่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า มีรายได้มั่นคง”

ครั้งหนึ่งในวัย 18 ปี กิต ต้องรายงานตัวกับมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าศึกษาต่อ แต่มันเป็นวันเดียวกับที่มีการแข่งขันเกมรายการหนึ่ง เขาเลือกไปแข่งขันเกม ซึ่งน้อยคนจะกล้าตัดสินใจในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต

“ตอนนั้นผมต้องไปรายงานตัวที่มหาวิทยาลัย แต่จริงๆสอบอะไรเรียบร้อยหมดแล้วสามารถไปเรียนได้ มันเป็นจังหวะเดียวกับวันที่ต้องเลือกระหว่างไปรายงานตัวกับแข่งเกม ผมเลือกไปแข่ง เพราะให้เหตุผลที่บ้านว่า ผมเล่นเกมมาทั้งชีวิตอยู่ Top 10 ของเซิร์ฟ หากผมแข่งได้แชมป์ผมจะได้ทุนในการเรียนต่อ”

“ผมไม่อยากขอเงินพ่อแม่ให้ส่งเราเรียนไปตลอด” กิต กล่าวต่อ “ผมอธิบายว่า ถ้าผมคว้าตรงนั้นได้ก็จะสบายไปจนเรียนจบ ผมจึงขอพ่อแม่แข่งสักครั้ง แต่สุดท้ายก็พลาด แต่ในตอนนั้นถือว่ายังไม่ได้ล้มเต็มที่ ผมยังคิดว่า เรายังเก่งอยู่”

หลังจากนั้น กิต กลับมาเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดิม ขณะเดียวกันกราฟเส้นทางอีสปอร์ตก็พุ่งสูงขึ้น เมื่อได้เป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทย แข่งขันรายการ Throne of Glory 2017 ที่เวียดนาม ซึ่งทัวร์นาเทนนี้ต่อยอดให้เขามีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

“ผมไม่เชิงที่จะเห็นภาพตัวเองในอนาคตขนาดนั้นว่าจะเป็นอย่างไร แค่รู้สึกดีที่มีกำลังใจในการแข่งเท่านั้น เวลาไปแข่งมีเสียงฮือฮาหรือเสียงเชียร์ใจมันก็มาเอง หลังจากแข่งก็มีคนเชียร์เยอะอยากรู้จักเยอะจากที่ก้อนหน้านี้ผมเป็นแค่คนที่ไม่มีใครติดตาม ตอนนั้นจำได้ว่า แข่งวันเดียวยอดฟอลขึ้นเป็นหมื่น ผมก็คิดว่า นี่เราดังแล้วเหรอ ถ้าเราดังเราก็ต้องทำให้เต็มที่สิ”

“พ่อแม่เขาเห็นแล้วว่าเราทำได้จริงๆเขาก็มีความสุขเลยพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เวลามีคนรอบข้างมาถามพ่อแม่ว่า ลูกคุณใช่ กิตงาย ไหม มีคนถามแบบนี้ เขาก็ดีใจกับผมที่สามารถทำตามสิ่งที่ต้องการ และสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก” กิต กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและเปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ

แบ่งเวลาให้เป็น

หากรู้จักการแบ่งเวลาให้ถูก ไม่ว่าทำสิ่งใดก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เป็นประโยคที่คุ้นหูกันดี เช่นเดียวกับการปรับใช้ในวงการอีสปอร์ต โดยเฉพาะเส้นทางชีวิตของ กิต ที่ไม่ใช่แค่นักกีฬาอีสปอร์ต แต่ยังเป็นสตรีมเมอร์ , ยูทูปเบอร์ และนักธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแบ่งเวลาเพื่อทำทุกอย่างในแต่ละวันก้าวไปพร้อมๆกันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การรู้จักแบ่งเวลาให้เป็นทำให้ กิต สามารถทำทุกอย่างได้ราบรื่น

“ตั้งแต่ตอนเด็กๆ มันเป็นเรื่องของแรงผลักดันเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าผมมีการบ้านที่ต้องทำ ผมจะตั้งเป้าไว้ก่อนว่า จะต้องทำให้เสร็จก่อนถึงจะเล่นเกมได้ ถ้าทำเสร็จช้าเวลาเล่นเกมก็จะน้อยไปด้วย วันหนึ่งอย่างน้อยๆได้เล่นช่วงสองทุ่มถึงสี่ทุ่มก็โอเคแล้ว”

“เวลากลับถึงบ้านผมจะนั่งทำการบ้านให้เสร็จในช่วงห้าโมงจนถึงหนึ่งทุ่ม หลังจากนั้นค่อยไปเล่นเกม…”

ความสนุก ตื่นเต้น สังคมในเกม เมื่อทุกอย่างถูกมัดรวมกันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เกมมีแรงดึงดูดพร้อมที่จะทำให้คนอยากอยู่กับมันทุกเวลา ทำให้อาจมีบางคนเลือกเกมก่อนทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า แต่นั่นไม่ใช่กับ กิต

เขามักแบ่งเวลาให้ถูกต้องเสมอ การจัดสรรเวลาทำให้เขามีเวลาเล่นเกม มีเวลาทำการบ้าน ผลการเรียนของเขาไม่ตก สามารถทำเป็นอาชีพได้ และกลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้ “กิตงาย” เติบโตเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศรวมทั้งภูมิภาคอาเซียน

“เมื่อก่อนคนรอบข้างมองว่า เราเป็นเด็กติดเกมไม่มีอนาคต ตัวผมไม่ใช่คนอยากพิสูจน์อะไรให้คนอื่นเห็น ผมจะประพฤติตัวดีเสมอพอมีชื่อเสียง หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ มุมมองพวกเขาก็เปลี่ยนไป”

“ทุกวันนี้เขากลับมองว่า พ่อแม่ผมเลี้ยงลูกเก่งที่สามารถเติบโตได้แบบนี้ มันทำให้ผมรู้สึกภูมิใจทุกครั้ง…”

ไม่ใช่แค่เล่นสนุกไปวันๆ แต่ต้องคิดให้ได้มองให้เป็

“ในตอนแรกผมพยายามทำเต็มที่ แต่ไม่สำเร็จเท่าไหร่ก็อาจต้องให้เวลากับมัน” กิต เล่าย้อนในช่วงเริ่มต้นเส้นทางอีสปอร์ตแรกๆที่ไม่ว่าจะการแข่งเกม , สตรีมเมอร์ หรือการสร้างคอนเทนในบทบาท Youtuber ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มีล้มลุกคลุกคลานบ้างบางที แต่เขาเข้าใจ และเลือกที่จะให้เวลากับสิ่งที่ทำ พร้อมทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้

“เราอาจทำไม่สำเร็จในช่วงแรก แต่ถ้าเราพยายามมากพอ ให้เวลากับมันวันหนึ่งก็จะสำเร็จเอง จริงๆไม่ใช่แค่เรื่องเกม แต่หมายถึงทุกเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องเรียนหากตั้งใจอ่านหนังสือเราก็จะได้เกรดที่ดีตอบแทนกลับมา ช่วงแรกอาจจะไม่เห็นผล แต่ในอนาคตเราจะเห็นผลที่ดีกลับมาแน่นอน”

“อย่างอาชีพสตรีมเมอร์กับยูทูปเบอร์ผมคิดว่าสองสิ่งนี้เข้ากันได้ดี สมมติเราสตรีมอยู่ก็อัดคลิปตอนเล่น ซึ่งมันสามารถเอาไปลงยูทูปสร้างคอนเทนท์ต่อได้”

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาเพิ่งสร้างธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้ชื่อแบรนด์ KIT โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกมานอกจากเสื้อผ้า ยังมีทั้งกระเป๋าทรง Waist Bag คาดหน้าอก และ Support Style กระเป๋า Crossbody Bag สะพายข้าง เก๋ๆ ผ่านช่องทางการจำหน่ายบนเพจ K I T และทาง Shopee ความตั้งใจของเขาไม่ได้ลงมือทำเพราะความชอบอย่างเดียว แต่ยังต้องการสื่อให้เห็นว่า นี่คือสิ่งที่ต่อยอดได้โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเกมเช่นเดียวกัน

https://www.instagram.com/p/B9tP-BYpkHB/

“การทำแเบรนด์ผ้า อาจจะต่างกัน เพราะผมต้องจัดทีมงานที่ทำธุรกิจเสื้อผ้าโดยเฉพาะ สิ่งนี้มันเกิดจากความชอบของผม สิ่งสำคัญที่ทำธุรกิจนี้ขึ้นมาคือ ผมอยากให้คนเห็นด้วยว่า อีสปอร์ตไม่ต้องเกี่ยวกับเกมอย่างเดียว แต่มันสามารถต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นๆได้เหมือนกัน”

ขณะเดียวกัน กิต ยังได้เข้ามาเป็นสตรีมเมอร์ใน facebookgameing  ให้กับ online station  ซึ่งถือเป็นการต่อยอดอาชีพบนเส้นทางอีสปอร์ตของเขาอีกขั้น

“สำหรับการเข้ามาเป็นสตรีมเมอร์ใน facebookgameing ของทาง online station ผมมองว่า เป็นแพลตฟอร์มที่โตไวและมีการแข่งขันสูง เรื่องการขายงานหรือต่อยอดอนาคต แน่นอนว่าเฟซบุ๊คมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว”

ต่อยอดสู่เส้นทางนักแสดง

นอกเหนือจากอาชีพในวงการอีสปอร์ต และธุรกิจส่วนตัว กิต ยังก้าวสู่การเป็นนักแสดงอีกด้วย เมื่อได้รับเชิญร่วมถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง mother gamer เกมเมอร์เกมแม่ ภาพยนตร์เกี่ยวกับอีสปอร์ตเรื่องแรกของไทย เป็นผลงานของผู้กำกับชื่อดังอย่าง ยรรยง คุรุอังกูร ที่ได้ “อ้อม” พิยดา อัครเศรณี และ วีรยา จาง หรือ วี BNK48 มารับบทนำในเรื่องนี้

“รู้สึกตื่นเต้นครับ ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เกี่ยวกับอีสปอร์ตเรื่องแรกในไทย บทบาทของผมในเรื่องก็จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นในทีม higher ซึ่งเป็นทีมที่มีความเคร่งครัดมีความเป็นมืออาชีพเกี่ยวกับมากๆครับ”

“ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า บ้านเราเริ่มมีความสนใจในด้านอีสปอร์ตมากกว่าเมื่อก่อน ผู้ใหญ่ได้เห็นความสำคัญ และความก้าวหน้าของวงการเกมจนอยากเอามาทำเป็นภาพยนตร์ และเกิดเป็นหนังเรื่องนี้ขึ้นมา”

“ส่วนตัวก็ชอบนะครับ กับการแสดง เหมือนได้เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ถ้าถามว่าอยากทำงานด้านนี้เพิ่มไหมตอนนี้คงยังดีกว่าครับแค่นี้ก็มีอะไรให้ทำเยอะแล้ว ก็ขอฝากหนังเรื่อง mother gamer ด้วยครับ เพราะนอกจากจะได้รับความสนุกแล้วยังได้เห็นดารานักแสดงชั้นนำมากกว่า รวมถึงได้ดูโปรเพลเยอร์แสดงหนังครั้งแรกด้วย”

โดยภาพยนตร์ Mother gamer จะเข้าฉายในวันที่ 10 กันยายน 2563 ซึ่งนอกจาก กิต ยังมีนักกีฬาอีสปอร์ตคนอื่นๆร่วมเแสดงด้วย ที่จะช่วยกันทำให้อีสปอร์ตได้รับการยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น

ยึดมั่นความรับผิดชอบต่อสังคม

กิต มีหลักการพื้นฐานให้ตัวเองตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบันที่อยู่ในวงการอีสปอร์ต เขามองว่า  ทุกอย่างที่ทำต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสังคมเสมอ

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ mother gamer ที่เขาร่วมแสดง โดยบทบาทของ กิต ในภาพยนตร์ ช่วยเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าให้ทุกคนได้เห็นว่า การจะก้าวสู่นักกีฬาอีสปอร์ต จะต้องผ่านอะไรบ้าง สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวระหว่างผู้ปกครองกับลูกที่ต้องการก้าวสู่ส้นทางอีสปอร์ตเพื่อจะประสบความสำเร็จเหมือนที่เขา และนักกีฬาอีกหลายๆคนเคยผ่านมาแล้ว

“ในบ้านเราอีสปอร์ตเป็นสิ่งที่ยังใหม่อยู่ ยังไม่ได้เปิดรับเต็มที่ ยังมีบางคนมองว่า เป็นอาชีพไร้สาระ แต่เมื่อก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีซึ่งมันก็คืออีสปอร์ต มีบทบาทต่างๆเข้ามาในอาชีพนี้ หากเรียนรู้ไว้เปิดใจ สักวันอาชีพอีสปอร์ตจะอยู่รอบตัวแน่นอน”

“ผมคิดว่า ภาพยนตร์ mother gamer จะช่วยเปลี่ยนแปลงมุมองความคิดของผู้คนที่มีต่ออีสปอร์ตได้มากครับ เพราะในตัวหนังจะบรรยายเกี่ยวกับหนทางและความยากลำบากเกี่ยวกับสายอาชีพนี้ว่ามันไม่ได้มาง่ายๆต้องทุ่มเทหลายๆอย่าง ทั้งเวลาและแรงใจ”

“และมันสามารถเป็นอาชีพที่มีรายได้มั้นคงตั้งแต่ยังเด็กเลยด้วยซ้ำ…”

หากเปรียบชีวิตเป็นบันได 10 ขั้น เขามองว่า ตัวเองเพิ่งก้าวสู่ขั้นที่ 7 เท่านั้น แม้ชื่อเสียงของ กิต จะโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่ทุกๆวันเขายังคงเก็บทุกสิ่งทุกอย่างมาเรียนรู้หาข้อบกพร่องเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

“ผมมองว่า เราต้องไม่กำหนดเป้าหมายไว้สูงที่สุด เพราะหากทำแบบนั้นตัวเราจะไม่พัฒนา แต่ถ้าหาข้อบกพร่องในตัวเองได้ เราก็จะพัฒนาต่อไปได้ ผมรู้สึกดีนะที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาในวงการเกมของผม ผมพยายามทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมเสมอ”

“ผมไม่ยุ่งเรื่องการพนันไม่สตรีมหยาบคาย พอมีคนชื่นชมก็ยินดีขอบคุณที่ติดตามผมมาตลอด และชอบในตัวเราต้องมีมาตรฐานอยู่แล้วว่า ต้องไม่หยายคายหรือใช้คำพูดที่ทำให้คนอื่นเจ็บปวด เราไม่จำเป็นต้องเอนเตอร์เทนให้คนดูสนุกตลอดด้วยคำพูด”

“แต่ถ้าทำให้คนดูสนุกไปกับการเล่นของเรามันก็คือการเอนเตอร์เทนอย่างหนึ่ง และทำให้คนดูอยู่กับเราไปอีกนาน…” กิต กล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่ม: JERSEY JOURNEY: ชุดแข่งอีสปอร์ต BLACK FOREST ของ FZK