หากจะพูดถึง Battle Royale ในตอนนี้ สิ่งที่หลายคนต้องนึกขึ้นได้ก็คือเกมแนวโดดร่ม หรือเกมที่ให้ผู้เล่นลงสนามมาต่อสู้กัน เพื่อชิงความเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย โดยมีองค์ประกอบทำให้เกมสนุกสนานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องมาตามหาอาวุธในแผนที่, กลยุทธ์ต่อสู้ที่ทำได้ทั้งแบบวิ่งลุย หรือแอบ และผู้เล่นที่ต้องมาเอาชนะกันในแผนที่มากถึง 100 คน

อย่างไรก็ตาม คำว่า Battle Royale ก็ไม่ได้ถือกำเนิดด้วยการเริ่มจากเป็นเกม H1Z1 ในปี 2015 หรือเกิดจากภาพยนต์ The Hunger Game ในปี 2012 และนี่ก็ไม่ใช่คำที่เพิ่งจะถือกำเนิดได้ไม่นาน หากแต่มีมานานมากจนครบ 20 ปีพอดีอีกด้วย จึงขอพาไปรับชมว่า Battle Royale มีที่มาเป็นอย่างไร จนถูกทำกลายเป็นแนวเกมฮิตถึงทุกวันนี้

ทุกอย่างเริ่มจากนวนิยาย

ปี 1999 คำว่า Battle Royale ได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกผ่านชื่อหนังสือนวนิยายของนักเขียนชาวญี่ปุ่น Koushun Takami โดยชื่อดังกล่าวก็ได้นำคำว่า Battle Royal ที่เป็นชื่อเรียกวิธีแข่งขันกีฬาในรูปแบบ Last Man Standing หรือผู้ที่สามารถยืนอยู่บนเวทีเป็นคนสุดท้ายคือผู้ชนะ มาดัดแปลงเป็นคำเรียกในฉบับวิธีแข่งขันของสงคราม

นวนิยายเรื่องนี้ ได้ถูกเขียนขึ้นโดยมีเรื่องราวเล่าถึงประเทศญี่ปุ่นสมมุติในอนาคต ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีเหตุการณ์ภาวะเศรษกิฐพังพินาศ จนมีผู้คนตกงานมากกว่า 10 ล้านคน และถึงขนาดส่งผลให้เด็กหลายคนไม่มีทุนเรียน ก่อนที่พวกเขาจะโตมาเป็นอันธพาลส่วนใหญ่ ที่ทำให้รัฐบาลได้เริ่มหาวิธีกำจัด เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องสูญเสียอำนาจ

รัฐบาลได้เลือกใช้วิธีสร้างเกมโชว์สงครามที่มีชีวิตเป็นเดิมพันธ์ในชื่อ Battle Royale ผ่านรายการทีวี โดยมีเป้าหมายเบื้องหน้าคือให้เด็กรู้จักคุณค่าของชีวิต แต่เบื้องหลังคือต้องการให้เด็กในประเทศมีน้อยลง โดยจะใช้วิธีการสุ่มห้องเรียนจากเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนหนึ่งมาต่อสู้กันเอง และเกมจะจบลงเมื่อมีผู้ชนะเหลือเพียงคนเดียวที่ไม่ตาย

ส่วนวิธีการแข่งขันดังกล่าว ก็จะให้เด็กทุกคนถูกสุ่มอาวุธใช้ได้อย่างละ 1 ชิ้น ก่อนจะนำไปปล่อยบนเกาะร้างให้ฆ่ากันจนเหลือคนสุดท้ายใน 3 วัน และยังมีพื้นที่ถูกเรียกว่า Danger Zone ในบางเวลา เพื่อไม่ให้เด็กอยู่ภายในพื้นที่แห่งเดียวตลอด ไม่งั้นจะถูกระเบิดผ่านปลอกคอที่ใส่เอาไว้อยู่ รวมทั้งใครที่คิดจะเล่นขี้โกง หรือถอดออก ปลอกคอก็จะทำการระเบิดทันทีอีกด้วย

นวนิยาย Battle Royale จึงถือว่ามีเนื้อหาที่รุนแรงต่อเยาวชนอยู่พอสมควร ทำให้ Takami หาค่ายเพื่อตีพิมพ์วางขายได้ยากมาก แต่ด้วยความที่ภายในเนื้อเรื่องก็ยังใช้วิธีเล่าแบบแฟนตาซี อย่างการต่อสู้ในบางฉากที่ให้ตัวเอกเหาะเหินเดินอากาศ ทำให้มีค่ายหนึ่งยอมตีพิมพ์ในที่สุด เพราะแม้เนื้อหาจะรุนแรงขนาดไหน แต่ก็ไม่ได้มีความสมจริงไปหมดนั่นเอง 

โด่งดังผ่านภาพยนต์

หลังจากนวนิยาย Battle Royale ได้ถูกตีพิมพ์ และประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ผู้กำกับภาพยนต์นาม Kinji Fukasaku ก็ได้หยิบไปสร้างเป็นหนังโรงฟอร์มยักษ์ โดยให้ Kenta Fukasaku เปลี่ยนเนื้อเรื่องใหม่บางส่วน เพื่อลดความไม่สมจริงลง และทำให้เหมือนกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น

ภาพยนต์ Battle Royale ได้ออกฉายในปี 2000 ในประเทศญี่ปุ่น และหลายๆ ประเทศรวมทั้งไทย ทำให้นี่จึงเป็นครั้งแรก ที่คนทั่วโลกได้รู้จักกับสงครามชิงความเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย แต่เส้นทางการฉายก็ไม่ได้ถูกสนับสนุนเสียเท่าไหร่ เนื่องจากกองเซ็นเซอร์ภาพยนต์ได้จัดให้เป็นหนังอันตรายสำหรับผู้มีอายุเกิน 15 ปี แถมยังถูกรัฐบาลจากประเทศตัวเองกล่าวว่าเป็นหนังส่งเสริมความรุนแรงอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ภาพยนต์ดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่หลายคนจดจำต่อชื่อเรื่องนี้ ก็ยังไม่ใช่การส่งเสริมความรุนแรงอะไรแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของมิตรภาพ, การหักหลัง และสภาพสังคมจริงๆ ในประเทศญี่ปุ่นเสียมากกว่า

Battle Royale ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนต์รวมแล้วทั้งหมด 2 ภาค โดยภาค 2 ที่ฉายในปี 2003 กลับได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร จึงเป็นการปิดตำนานหนังสงครามชิงความเป็นที่ 1 ในที่สุด

นอกจากนี้ ภาพยนต์ Battle Royale ในปี 2000 ที่ฉายในประเทศไทย ก็ยังได้นำวงดนตรียอดนิยมในตอนนั้นอย่าง หิน เหล็ก ไฟ มาแต่งเพลงประกอบสุดมิตรภาพให้อีกด้วย

กลายเป็นแนวเกมสุดฮิต

เชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงจุดนี้ น่าจะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมภาพยนต์ Battle Royale ที่ฉายครั้งแรกในปี 2000 จึงเพิ่งถูกหยิบมาสร้างเป็นเกมภายในช่วง 2010 – 2019 ทั้งๆ ที่เกมออนไลน์ ก็ถือกำเนิดมานานได้หลายปีแล้วเหมือนกัน

สำหรับเหตุการณ์นี้ สิ่งที่มีส่วนมากสุดคือถึงแม้ภาพยนต์ Battle Royale จะได้เข้าฉายในหลายประเทศ แต่ก็กลับถูกห้ามไม่ให้ฉายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2000 เนื่องจากผู้คนยังคงหวาดกลัวกับเหตุการณ์โศกอนาฏกรรม Columbine High School massacre ในปี 1999 ส่งผลให้ภาพยนต์ไม่ได้มีชื่อเสียงถึงแดนผู้สร้างเกมชั้นนำในเวลานั้น ยกเว้นผู้ที่จะชื่นชอบดูหนังจริงๆ บางส่วน รวมทั้ง Brendan Greene 

Greene ได้รับชมภาพยนต์ดังกล่าว ก่อนที่เขาจะนำมาเป็นแรงบันดาลใจดัดแปลงเกม (mod) Arma ให้กลายเป็นเกมสงครามทหารฉบับ Battle Royale แมตช์ละ 100 คน ในปี 2012 โดยผู้เล่นจะต้องโดดร่มลงมาตามสถานที่ต่างๆ แล้วหาเก็บอาวุธสู้รบชิงความเป็นที่ 1 ให้สำเร็จ แถมผู้เล่นก็จะถูกกดดันโดยต้องพยายามอยู่ในวงกลมที่ทำให้พลังขีวิตไม่ลด ซึ่งจะบีบเป็นจุดเล็กๆ ตลอดเวลา และบางพื้นที่ก็จะเกิดการทิ้งระเบิดจากบนฟ้าขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้เล่นบางคนได้อยู่แต่ในพื้นที่เดิมๆ

การดัดแปลงเกม Arma ของ Greene ถือว่าได้รับความนิยมพอสมควร ทำให้ทางผู้พัฒนาเกมเอาชีวิตรอดซอมบี้ออนไลน์ H1Z1 ได้เชิญชวนเขามาร่วมดัดแปลงเกมดังกล่าว จนออกมาเป็น H1Z1: King of the Kill ที่เปรียบเสมือนเกมแนวโดดร่มกลิ่นอาย Battle Royale เกมแรกของโลกเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม Greene ก็รู้สึกว่าการพัฒนาเกม Battle Royale ภายใต้ทีมพัฒนา H1Z1 ดูจะไม่ใช่สิ่งที่ใช่ไปทั้งหมด ทำให้เขาได้ออกมาทำงานร่วมกับทีมพัฒนาเกม Bluehole ก่อนที่จะให้กำเนิด PUBG เกมที่สร้างขึ้นมาเพื่อการเล่นแบบโดดร่มแท้ๆ และเป็นเกมแรกในแนวดังกล่าวที่โด่งดังไปถึงระดับโลก

อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เล่นเกม PUBG หลายคนน่าจะไม่รู้ นั่นคือตัวเกมก็ได้มีการเคารพภาพยนต์ Battle Royale เอาไว้อยู่มากมายอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการมีอาวุธปืน Uzi และเคียวเกี่ยวข้าวให้เลือกใช้ รวมทั้งยังมีชุดไอเทมตัวละคร ที่ถอดมาจากตัวเอกในหนังโรงแบบเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

เรื่องราวทั้งหมดนี้ จึงทำให้เกมแนว Battle Royale ได้รับความโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน และมีการกำเนิดเกมเพิ่มเติมมากมายไม่ว่าจะเป็น FreeFire, Apex Legends และ Fortnite รวมทั้งยังคงเป็นเกมแนวเดียวในปัจจุบันของวงการอีสปอร์ต ที่ได้รับความนิยม และมีเงินรางวัลไม่แพ้เกมแนวตีป้อม MOBA นั่นเอง

อ่านเพิ่ม คนแรก! BUGHA คว้าแชมป์โลก FORTNITE รับรางวัลเกือบร้อยล้านบาท