ชยุตม์ “Voo” ฉางทองคำ หรือ ปอนด์ คือนักพากย์อีสปอร์ตเมืองไทยที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะ วงการ FPS(First-Person Shooter) ทั้ง PUBG และ Valorant ที่แฟนๆต่างคุ้นเสียงของเขา ในเวลาเดียวกัน เขายังเป็นโค้ชของ MiTH PUBG ที่ปลุกชีพทีมระดับตำนานไปโลดแล่นเวที SEA อีกครั้ง

แต่หากย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น Voo คือชื่อของนักแข่ง Counter-strike ระดับตำนานของไทย ที่แฟนเกมจดจำได้ดี เขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นแถวหน้าที่พาทีมไทยไปแข่งขันระดับโลกในวันที่ประเทศบ้านเกิดยังไม่รู้จักอีสปอร์ต

เขาผ่านมาแล้วทุกบทบาท นักแข่ง, พิธีกร, กูรูเกม, นักพากย์, โค้ช รวมถึงงานเบื้องหลังกับทีมอีสปอร์ต เขาเคยเจอคำพูดด้านลบนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะการเป็นโค้ชที่โดนกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง แต่เขายังคงมุ่งมั่นต่อไปบนเส้นทางนี้ด้วยเหตุผลเดียวที่ไม่เคยบอกใคร

และนี่คือเรื่องราวของ Voo ตลอด 25 ปี ในวงการอีสปอร์ต ที่จะทำให้คุณได้รู้จักตัวตน และความคิดของผู้ชายคนนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมเหตุผลที่ยังทุ่มเทกับวงการอีสปอร์ตไทยต่อไป ซึ่งไม่เคยเปิดเผยให้ใครรู้มาก่อน…

ตำนาน Counter-strike

“เราจะบุกอัดข้าศึกด้วยทุกสิ่งที่เรามี ทะลวงมันให้ทะลุ อย่างไม่หยุดยั้ง” ประโยคคุ้นหูจาก Counter-strike ที่หากย้อนกลับไป 20 ปี ที่แล้ว นี่คือเกมดังที่พลิกโฉมวงการ FPS ทั่วโลก

Counter-strike เป็นเกม FPS ที่แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่ายคือ ตำรวจ และผู้ร้าย แต่ละฝ่ายสามารถซื้ออาวุธ เพื่อประจัญบานในด่านต่างๆที่มีความพิเศษต่างกันไป ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่เล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง และเป็นเกมที่ทำให้ชื่อของ Voo เป็นที่รู้จักในวงการเกม

“ตอนปี 2003 ผมกำลังคลั่งไคล้ฟุตบอลก็มีเพื่อนชวนไปเล่นเกมที่ห้าง อิมพีเรียลลาดพร้าว เราก็ติดสอยห้อยตามไปด้วย” Voo เท้าความวันแรกที่ได้รู้จัก Counter-strike

“เพื่อนเขาเล่นเกม Counter-strike กันอยู่แล้ว ผมก็ได้ไปสัมผัสเกมนี้ เริ่มแรกเล่นไม่ค่อยเป็นหรอก เราเล่นกันแบบ 5-5 เพื่อนไปกัน 10 คน สร้างห้องแบ่งทีมกันเองก็รู้สึกว่า เกมมันสนุกดี แล้วมันก็ทำงานเป็นทีมเหมือนที่เราเล่นฟุตบอลเลย จากนั้นก็เล่นมากขึ้นจนรู้สึกหลงรักมันก็เลยทำทีมกันเองเพื่อลงแข่ง”

“จุดเริ่มต้นของผมในการแข่งเกมมาจากคำชวนของเพื่อนที่ไปเล่นกันขำๆ แต่ตัวผมดันไปชอบลักษณะบางอย่างเช่น การทำงานเป็นทีมที่เหมือนฟุตบอล มีการแบ่งหน้าที่เหมือนกัน ก็เลยทำทีมลงแข่ง”

STAN คือทีมแรกในชีวิตของ Voo ในการแข่งเกม ซึ่งเป็นทีมที่เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนในโรงเรียน และลงแข่งหนแรกในปี 2003 แต่ในวงการ Counter-strike พวกเขาเป็นเพียงน้องใหม่ที่เพิ่งประเดิมสนามแข่ง จึงต้องหาประสบการณ์จากรายการเล็กๆ ซึ่งยุคนั้นจะจัดแข่งกันในร้านเกม มีเงินรางวัลแค่หลักพัน ที่สามารถกรอกใบสมัครจากร้านนั้นๆ

Voo ตระเวนแข่งรายการออฟไลน์ตามร้านต่างๆ โดยเวลานั้นทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของ Counter-strike คือ World Cyber Game ที่เป็นจุดมุ่งหมายของผู้เล่นทุกคน รวมถึง Voo และเพื่อนที่ติดตามข่าวสารงานแข่งผ่านเว็บไซต์ World Cyber Game อย่างใกล้ชิด เพราะหวังจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันรายการนี้ 

“ในปีนั้นต้องยอมรับว่า เรายังงูๆปลาๆไม่เคยรู้ ไม่มีประสบการณ์ พอไปถึงสนามแข่งรู้สึกเหมือนมีดาราอยู่ในกลุ่มคนเล่นเกม ทีมนี้ก็ดูเหมือนเป็นที่จับจ้อง มีการพูดถึงทีมนี้ มีการพูดถึง Xunwu Teamwork พูดถึง Arena ที่ตอนนั้นเป็นอันดับ 1 หรือพูดถึง Relax ก็รู้สึกว่า ทำไมคนพวกนี้ชื่อเสียงดังจังเลย”

“การแข่งของผมปีแรกเราไปแบบงูๆปลาๆ แต่โชคดีที่ผ่านถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่สุดท้ายก็ไปแพ้ทีมพี่หนุ่ม Xunwu (ผู้ก่อตั้ง Xunwu Teamwork) ผมก็เลยได้ที่สองมา”

No photo description available.
Credit: Facebook Voo

โบกแท็กซี่ไปฝึกวิชา

หลังได้สัมผัสการแข่งขันอย่างเป็นทางการ Voo เดินหน้าต่อเพื่อเป็นที่หนึ่งของเกม Counter-strike โดยเปลี่ยนชื่อ STAN เป็น NearlyGod ก่อนเริ่มฝึกฝีมือจริงจัง

“ตอนไปแข่งผมไม่รู้จักใครเลย เราซ้อมแบบปิดบ้านซ้อมไม่ได้สนใจใคร หลังแพ้ในวันนั้น ผมมีความรู้สึกว่า เราไม่อยากแพ้แล้ว คิดว่า เราสามารถชนะทีมอื่นได้ แล้วก็ทำให้รู้ว่า มันมีทีมเก่งๆเยอะแยะมากมายที่อยู่ในวงการนี้”

“พอปี 2004 ผมก็ออกจากบ้านเพื่อไปฝึกวิชาคือออกจากย่านลาดพร้าวที่ซ้อมทีม ไปเจอทีมที่อยู่ย่านอื่นในกรุงเทพฯ แต่ละที่จะมีเจ้าถิ่นเก่งๆประจำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Xunwu, Arena, Relax เช่น Relax ก็จะอยู่ย่านเกษตร ถ้า Xunwu กับ Arena จะอยู่ เดอะมอลล์ รามคำแหง ผมจะเสียค่ารถโบกแท็กซี่เดินทางไปที่ร้านเขาเพื่อขอซ้อมด้วย บางทีมก็ให้ซ้อม แต่บางทีมก็ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะฝีมือเราอ่อนเกินไป”

“เราเริ่มมีการท้าทายเกิดขึ้น คือถ้าคุณแพ้ต้องซื้อโค้กขวด 2 ลิตร มาเลี้ยงอีกทีม แล้วถ้าใครฆ่าได้ที่โหล่ ต้องวิ่งลงไปซื้อน้ำแข็งมาให้เขาด้วย เป็นการท้าทายเพื่อตั้งเป้าหมายนิดหน่อย ทีมอื่นเขาเลยให้ซ้อมด้วย ซึ่งวันที่ผมไปซ้อมกับ Xunwu กับ Arena เชื่อไหม โค้กเต็มร้านเลย ไม่มีที่ให้วาง เพราะทีมผมแพ้ยับ”

NearlyGod ชนะบ้างแพ้บ้างสลับกันไป แม้ส่วนใหญ่ผลแข่งเป็นอย่างหลังมากกว่า แต่ยิ่งแพ้พวกเขาก็ยิ่งอยากเก่งขึ้น เพราะเป้าหมายของ NearlyGod คือตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเวทีระดับโลก

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ผมมีสิทธิ์ที่จะชนะทีมอันดับหนึ่งของประเทศได้ มันก็เลยเป็นไฟในการแข่งขันเมื่อปี 2004 ตอนแพ้เยอะๆ ผมไม่มีความรู้สึกท้อ กลับกันผมอยากชนะพวกเขามากขึ้น เพราะผมมองว่า เรามีสองมือสองเท้าเหมือนกัน ถ้าเรามีความพยายามมากพอ เล่นถูกวิธี วางแผนอย่างถูกวิธีก็มีสิทธิ์ที่จะชนะได้ ตอนนั้นผมคิดแค่นี้เลย”

“อย่างที่ผมบอกมันคล้ายกับฟุตบอล ทีมฟุตบอลต้องมีโค้ช มีการวางแท็คติกว่า เราจะต้องเล่นแบบไหน  ตำแหน่งผมจะต้องทำอะไร คุณต้องระวังเรื่องไหนบ้าง ผมก็เลยรู้สึกว่า มันคล้ายคลึงกัน แล้วถ้าทำได้ วางแผนได้ มันก็มีโอกาสที่จะชนะเหมือนกัน” 

“ต้องยอมรับว่าอันนี้มันเป็นช่วงสำคัญในชีวิตเหมือนกัน ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างกับน้องๆรุ่นใหม่ ผมเริ่มจากการแพ้ 0-16 ในเกม Counter-strike ใคร 16 win ก่อนชนะ ซึ่งผมแพ้ 0-16 มาตลอด แต่ใจผมตั้งเป้าไว้ตลอด หากวันนี้ผมแพ้ 0-16 แมตช์หน้าผมขอแพ้ 1-16 ถ้าแพ้ 1-16 แสดงว่า แมตช์หน้าเรามีการพัฒนาขึ้น แมตช์ต่อไปขอแพ้ 2-16 เราตั้งเป้าหมายแล้วเราสามารถทำได้แสดงว่า เรามีพัฒนาการที่มากขึ้น ถ้าผมเกิดถอดใจไปวันนั้นก็อาจจะไม่มีผมในวันนี้” 

เผชิญโลกกว้าง

No photo description available.
Credit: Facebook Voo

จากความไม่ยอมแพ้ทำให้ NearlyGod เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นพร้อมฝีมือที่พัฒนากว่าเดิม พวกเขากลับมาลงแข่งในศึก World Cyber Game 2004 ชิงแชมป์ประเทศไทย และครั้งนี้ Voo กับเพื่อนทำสำเร็จ เมื่อคว้าแชมป์มาครองพร้อมสิทธิ์ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน Counter-strike ชิงแชมป์โลก ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

“มันพัฒนาเป็นก้าวกระโดดมากจากการซ้อมในตอนนั้น ต้องยอมรับว่า Xunwu กับ Arena คืออาจารย์ในการเล่น Counter-strike ของผมเลยก็ว่าได้ มันก้าวกระโดดเพราะปี 2004 ผมเป็นแชมป์ประเทศไทยทันที หลังจากฝึกวิชา” 

 ปี 2004-2008 เป็นช่วงเวลาที่ Voo ประสบความสำเร็จบนเส้นทาง Counter-strike ในฐานะผู้เล่น และส่งให้ NearlyGod เป็นทีมระดับตำนานที่ถูกกล่าวถึง แต่ Voo ยอมรับว่า กว่าจะถึงจุดนี้ พวกเขาต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างยากลำบาก

“มันผ่านความยากลำบากมากเลยนะครับ เพราะปกติไม่ว่าจะเป็นน้องๆรุ่นใหม่ หรือว่าผู้คนในตอนนั้น มักดูแต่ผลงาน แต่ไม่รู้เลยว่า คนที่สำเร็จหรือล้มเหลวเขาเจอปัญหาภายในทีมอย่างไร อย่าง NearlyGod จริงๆเกิดปัญหาเยอะแยะมากมายภายในทีม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทะเลาะกัน หรือเป็นเรื่องของการไม่เปิดใจคุยกัน แพ้แล้วอาจจะมีอารมณ์เกิดขึ้น มันเป็นปัญหาเหมือนทีมทั่วไปแหละ แต่สิ่งหนึ่งที่เราผ่านมาได้คือเราเปิดใจคุยกันตรงๆ”

“เวลาเราเห็นปัญหา หากพูดตรงๆมันก็เหมือนใส่นวมมาชกกัน แต่เราไม่ได้ใส่นวมชกกันจริงๆนะ อย่างผมทะเลาะกับเพื่อนเราจะคุยกันตรงๆทำไมมันเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร แต่โชคดีที่พวกเรามีเคมีตรงกันรับข้อผิดพลาดตัวเองได้ ถ้าตัวเองผิดพลาดก็ขอโทษ เอาใหม่ และอีกหนึ่งจุดที่สำคัญ NearlyGod ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จคือ เราได้รับการสอนและอบรมจากอาจารย์จิตวิทยาในปี 2004”

นอกเหนือประสบการณ์แข่งขันต่างแดนหนแรกในรายการ World Cyber Games 2004 Voo ยังได้เปิดโลกใบใหม่ที่ทำให้เขารู้จักอีสปอร์ตมากขึ้น และเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาอยากสานต่อเส้นทางนี้ในบทบาทอื่น

“มันเกินภาพของผมไปเยอะเลย ปกติต่อให้เป็นทัวร์นาเมนต์ World Cyber Games ก็แข่งแค่ตามห้าง แต่พอไปต่างประเทศ มันมาจากทุกประเทศทั่วโลก เขาไปจัดตามสถานที่สำคัญต่างๆเช่นผมไปซานฟรานซิสโก เขาก็พาล่องเรือผ่านสะพานโกลเด้นเกตไปที่อิตาลี เมืองมอนซ่าดังเรื่องสนาม F1 ก็ไปเปิดตัวที่สนาม Formula 1 ให้เราถือธงชาติไทยนั่ง F1 เปิดตัว หรือที่ปารีส ก็แข่งในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งมันเปิดโลกเรามากๆ และคลิกที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมอยากทำงานเกมก็ปี 2004 ที่ผมได้เป็นตัวแทนไทยไปแข่งที่สหรัฐอเมริกา”

“จากแค่ฝันอยากเป็นตัวแทนประเทศ แต่พอได้เป็นตัวแทนประเทศได้ไปเจองานของต่างประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกอยากทำงานเกี่ยวกับเกม เป้าหมายของผมก็เลยเพิ่มขึ้นมา นั่นคืออยากทำงานเรื่องเกมด้วยในอนาคต”

อย่างไรก็ตามโอกาสเปิดโลกครั้งนั้นกับสิ่งที่คิด ยังเป็นเพียงเป้าหมายที่เขาวางไว้ในอนาคต Voo ยังเดินหน้าแข่งเกมต่อไป แต่ขณะเดียวกันเขาก็เฝ้ารอโอกาสว่าที่จะต่อยอดอนาคตบนเส้นทางนี้ กระทั่งโอกาสแรกที่ทำให้เขาได้ขยับขยายสู่บทบาทใหม่ในวงการเกมก็เริ่มต้นขึ้น

จุดเปลี่ยนชีวิต

จากประสบการณ์นักแข่งที่ผ่านเวทีระดับโลกมาแล้ว Voo จึงได้รับการติดต่อให้เป็นพิธีกรรายการเกมแห่งหนึ่ง ซึ่งเดิมทีเขาเป็นคนขี้อาย แต่ในฐานะหัวหน้าทีม เขาจึงต้องออกหน้าให้สัมภาษณ์กับสื่อตลอด ทำให้คุ้นชินการพูดมากขึ้น และพิธีกร คือบทบาทแรกของ Voo ที่เริ่มต้นการทำงานเกม

“บอกเลยว่า ผมเริ่มจากศูนย์ จริงๆผมเกือบจะไม่รับงานนี้ด้วยซ้ำ เพราะตัวผมเป็นคนขี้อายมาก ไม่กล้าแสดงออก พอต้องไปอยู่หน้ากล้องถ่ายทอดสดออกทีวี มันนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะทำได้”

“ตอนที่ได้รับข้อเสนองานนี้เข้ามาในปี 2006 ผมบอกปฏิเสธตั้งแต่ต้น แต่พอเรากลับไปที่บ้านก็รู้สึกว่า เราอยากทำงานวงการเกม เราอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับเกม เอาจริงๆมันกล้าได้กล้าเสียก็ฝืนไป ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่ผมขอลุยดีกว่า ก็เลยได้เข้าไปเป็นพิธีกร และเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ทำงานเกี่ยวกับเกม”

รายการ Headshot ทางช่อง G Square ของ True Vision คือรายการแรกที่ Voo เริ่มต้นทำหน้าที่พิธีกรเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ FPS ที่เขาช่ำชอง หลังจากนั้นเขาได้เก็บประสบการณ์เรื่อยมา เมื่อตัดสินใจเดินหน้าลุย เขาทุ่มเทกับการหาข้อมูล ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น กระทั่งได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นจากหนึ่งรายการเพิ่มเป็น 4 รายการ และเคยรับมากสุดถึง 6 รายการ 

จากฝีมือหน้ากล้องของงานพิธีกร ทำให้ Voo ได้รับการติดต่อให้เข้ามารับหน้าที่นักพากย์เกมครั้งแรกในกับเกม  Special Force 1 และ FIFA Online 2 สองเกมดังแห่งยุค 

“ถ้าเป็นตัวเกมมันไม่ต้องทำงานอะไรเพิ่ม แต่ผมต้องไปทำงานหนักในเรื่องของการฝึกเปิดรายการ พูดให้ช้า พูดให้ชัด เพราะผมเป็นคนพูดเร็วมาก แต่ถ้าเป็นตัวเกม เราเล่นอยู่แล้ว เราเลยเข้าใจ มันก็แทบจะไม่ต้องฝึกอะไรมาก แต่นักพากย์เกมในตอนนั้นเรียกว่า มันไม่มีกระแสจะดีกว่า เพราะว่าไม่มีการพูดถึง นักพากย์ถูกมองเป็นแค่คนๆหนึ่ง ที่มาพากย์ให้คุณฟัง แล้วก็หายไป เพราะไม่มีใครรู้ว่า นี่คืออาชีพอะไร แทบจะไม่ได้ยินกระแสอะไรเลยสำหรับนักพากย์ในตอนนั้น”

นักพากย์เกมในยุคนั้นแทบจะเริ่มต้นจากศูนย์จากคำบอกเล่าของนักพากย์ชื่อดังที่กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากนักพากย์ไม่ได้ถูกมองเป็นอาชีพเต็มตัว ผลตอบแทนน้อย และคนสนใจการแข่งมากกว่าการฟังคนพากย์ ประกอบกับลักษณะงานที่ไม่ได้มีสังกัดเต็มตัว และไม่ได้รับการผลักดันหรือยอมรับในวงกว้าง

แต่ในมุมมองของ Voo เขาเห็นถึงโอกาสเติบโตของวงการนักพากย์ด้วยความเชื่อที่ว่า หากจริงจังในสิ่งที่ทำ ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้

“ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำอะไรสักอย่างด้วยความพยายาม จริงจังกับมัน ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ เราก็แค่ดูคนที่เขาทำสำเร็จ เช่นผมอยากเป็นนักฟุตบอลในยุคนี้ ผมก็ต้องดู ชนาธิป สรงกระสินธ์ ว่าเขาทำได้อย่างไรถึงประสบความสำเร็จบนอาชีพนักฟุตบอล ผมเชื่อมั่นอย่างนี้ ถ้าในอาชีพต่างๆ มีคนที่ทำงาน แล้วเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นตัวอย่างให้คนอื่นมันก็จะมีคนอื่นๆเดินตามมาเรื่อยๆ ผมคิดแค่นั้น”

“ตอนเริ่มพากย์ ผมไม่ค่อยได้สังเกตกระแสที่เข้ามา ส่วนมากผมโฟกัสงานตัวเองเป็นหลัก เพราะเมื่อก่อนโซเชียลมันไม่เหมือนสมัยนี้ ถ้าคุณเป็นนักพากย์สมัยนี้จะเหนื่อยหน่อย ถ้าเริ่มพากย์วันแรกก็เตรียมตัวโดนด่าได้เลย แต่สมัยผมมันไม่มีโซเชียลหนักขนาดนั้น พอพากย์จบหนึ่งงานก็ไม่มีอะไร แต่เราก็ต้องอยู่กับตัวเองว่า ว่าวันนี้เราพากย์เป็นอย่างไรบ้าง ต้องวิเคราะห์ว่า เรามีผิดพลาดตรงไหน ต้องแก้อะไรบ้าง”

“ผมได้รับประสบการณ์จากการทำงานออฟไลน์ผ่านหน้ากล้องเป็นหลัก ตรงนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่โชคดีของผมด้วยที่ไม่ได้เริ่มจากงานออนไลน์ เพราะออฟไลน์ทำให้เราได้รู้ว่า การถ่ายรายการหนึ่งต้องใช้คนประมาณ 20 คน ขั้นตอนมีอะไรบ้างเป็นการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ เท่ากับว่างานพากย์เราจะต้องจัดการกับคนที่อยู่หน้างาน ต้องแก้ไขสถานการณ์เวลาที่มันเกิด error หน้างานก็เลย ค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ตั้งแต่แรก”

“ผมว่าจุดที่ทำให้คนรู้จัก Voo ในฐานะนักพากย์ มันเกิดขึ้นจากตอนที่เราได้รับงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันวัดไม่ได้หรอกว่าเรามีชื่อเสียงมากขึ้นเท่าไหน แต่ว่าผมรู้สึกว่า เราได้งานมากขึ้น ได้มีเวทีแสดงความสามารถมากขึ้น มันก็เลยเป็นที่ยอมรับ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เราที่ต้องฝึกฝนตัวเราเองเป็นหลัก ตัวผมไม่ได้คาดคิดว่าเราจะได้รับงานไหนบ้าง เพราะเรียนตามตรง ผมอยู่ในยุคที่หากคุณพากย์เกมนี้จะไม่สามารถไปพากย์เกมอื่นได้”

“แต่ผมพยายามท้าทายตัวเอง ผมแค่รู้สึกเหมือนตอนเราเล่นฟุตบอลหรือเล่นเกม ทำไมเราจะทำไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจ ผมเล่น Counter ผมก็มาพากย์ Counter ผมเล่น SF ผมก็มาพากย์ SF ซึ่งพอเราทำงานแบบนี้เรื่อยๆมันก็มีโอกาสเข้ามาจนเราได้ไปพากย์ทุกเกมที่เป็นเกม Shooting ในยุคนั้น”

งานพากย์ทำให้ Voo เริ่มห่างหายจากการแข่งขัน แต่ Nearlygod ยังกลับมารวมตัวอีกครั้งในรายการ Couter-Strike ONLINE Thailand Championship 2012 แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจอำลาโปรเพลเยอร์เป็นทางการเพื่อทุ่มเทให้กับงานพากย์เต็มที่

นักพากย์เกมสไตล์ Voo

May be an image of one or more people, people sitting, indoor and text that says 'BOD THAI'
Credit: Facebook Voo

นักพากย์แต่ละคนจะมีเอกลักษณ์หรือจุดขายต่างกันไป บางคนเป็นสายเอ็นเตอร์เทน บางคนเป็นสายข้อมูลที่พร้อมอธิบายทุกอย่างให้คนดูเข้าใจในเกมนั้นๆ ซึ่ง Voo นำสองสิ่งมาผสมผสานกัน เพราะเขามองว่า นักพากย์ที่ดีต้องมีทั้งความเอ็นเตอร์เทน และสาระข้อมูล ยิ่งกว่านั้นจะต้องเป็นผู้สื่อสารให้คนดูเข้าใจเกมให้ง่ายขึ้น

“สไตล์การพากย์ของผมคือการให้ข้อมูลมากกว่า ให้คนที่ไม่เล่นเกมสามารถเข้าใจในสิ่งที่ผมพากย์ เพราะถ้าคนเล่นเกมด้วยกันยังไงมันก็เข้าใจ แต่การทำให้คนที่ไม่เล่นเกมเข้าใจ มันต้องอธิบายข้อมูล เปรียบเทียบวาทศิลป์ ยุคนี้หลายคนชอบเติมความเอ็นเตอร์เทน เพราะจะเอาสาระอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเพิ่มเอ็นเตอร์เทนเข้าไปด้วย แต่ว่ามันก็ทำให้ลืมรากเหง้าของการเป็นแคสเตอร์จริงๆเหมือนกัน”

“การเป็นแคสเตอร์ที่ดี คุณต้องให้ข้อมูลครบถ้วน พูดจาฉะฉาน ทำให้นักกีฬาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าแคสเตอร์ในยุคปัจจุบัน เน้นเอ็นเตอร์เทนเป็นหลัก ซึ่งยุคนี้คือการพากย์ Kill feed 10 Kill feed คนดูก็จะรู้สึกเหมือน แรปเปอร์ แรปก็อด”

“หลายคนอาจจะคิดว่าถูกต้อง แต่บางทีมันฟังไม่รู้เรื่อง สิ่งที่ควรทำที่สุดของนักพากย์คือพูดถึงรายละเอียดทัวร์นาเมนต์ พูดถึงสปอนเซอร์ เปิดรายการ ปิดรายการ แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า รักษาภาพลักษณ์รายการได้ดี และทำให้นักกีฬาเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ”

โค้ช Voo

ชื่อของ Voo เป็นที่ยอมรับในวงการอีสปอร์ต เขาคือนักพากย์คิวทองที่มีงานเข้ามาไม่ขาดสาย ก่อนที่ต่อมาเขาจะหาความท้าทายใหม่ของตัวเอง นั่นคือการเป็นโค้ชทีมอีสปอร์ต Point Blank เกม FPS ชื่อดังที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

“ผมเริ่มงานโค้ชครั้งแรกเมื่อปี 2015 กับทีม GZ Gaming จุดเริ่มต้นคือ บริษัท Garena Point blank Thailand มีการคัดเลือกหาตัวแทนประเทศไทย พอหาตัวแทนประเทศมาได้ทีมหนึ่งเนี่ยที่มีชื่อว่า GZ Gaming ก็ได้จ้างผมแบบฟรีแลนซ์ เพราะคนที่ดูแล E-sports Point Blank ตอนนั้นเป็นรุ่นน้องผม และเคยเห็นผมทำทีมมาก่อน เคยทำทีมให้เขาเป็นแชมป์ประเทศไทยด้วยก็เลยเหมือนเชื่อในตัวเรา และได้เข้าไปเป็นโค้ช GZ Gaming นั่นคือจุดเริ่มต้นการเป็นโค้ชของผม”

ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำทีมอีสปอร์ตมาตั้งแต่ยุคแรกที่เข้าวงการเกม ทำให้ Voo คุ้นชินกับรูปแบบการทำงาน การจัดระบบ วางแผนทีม จึงไม่ใช่เรื่องยากกับจุดเริ่มต้นงานโค้ชของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือความกดดันที่มากขึ้น โดยเขาเข้ารับตำแหน่งโค้ชทีม PUBG Mobile ของ RRQ Athena ในปี 2020 หลังได้รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในทีมระหว่างที่เขากำลังพากย์งานแข่ง PUBG นั่นทำให้ Voo เริ่มอยากท้าทายตัวเอง และกระโดดรับงานเฮดโค้ช RRQ Athena PUBG Mobile ที่ต้องการยกระดับให้ทีมเป็นมืออาชีพมากขึ้น

ตลอด 1 ปี กับการเป็นโค้ช RRQ Athena PUBG Mobile เขายอมรับว่า เป็นจุดเปลี่ยนการเป็นโค้ชของตัวเอง เมื่อสามารถพัฒนาทีมจนได้สิทธิ์แข่งขันระดับ SEA และต่อยอดสู่เวทีชิงแชมป์โลก ซึ่งเป็นหนึ่งขวบปีที่อัดแน่นด้วยประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งการวางแผน การจัดระบบทีมที่ต้องใส่ใจเรื่องพักผ่อนมากขึ้น ปรับแผนซ้อมใหม่ หากแผนเดิมไม่เป็นผลก็จะหาวิธีใหม่อยู่เสมอ

ยิ่งกว่านั้นเขายังได้เจอในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน นั่นคือการบาดเจ็บของผู้เล่นที่เริ่มปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอ นิ้วล็อค ที่เกิดขึ้นได้กับนักกีฬาบางคน ทำให้ต้องมองหาตัวสำรองเพื่อให้ตัวจริงได้พักแข่ง และนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยเพื่อลดอาการบาดเจ็บของผู้เล่น แต่ผลงานโดยรวมก็ยังไม่เป็นไปตามที่หวัง

“เป้าหมายของผมคืออันดับหนึ่งของระดับโลก แต่เราได้ที่ 3 ถ้าถามตามเป้าไหมมันก็ไม่ได้ตามเป้า แต่ผมรู้สึกเหมือนได้ปลดล็อคอะไรบางอย่างในตัวผม คือมันไม่จำเป็นต้องทำตามเป้าหมายในสิ่งที่เราอยากได้อย่างเดียว แต่แค่มันทำให้ชีวิตของน้องๆดีขึ้น ทุกคนเจริญเติบโต และเล่นอย่างถูกวิธี นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญกว่า และเป็นประสบการณ์ที่ผมได้รับจาก RRQ”

ระหว่างนั้นเขาได้เป็นที่ปรึกษาให้ MiTH สังกัดอีสปอร์ตชื่อดังของไทยควบคู่กัน และได้รับฟังปัญหาในทีมเช่นกัน กระทั่ง Voo ตัดสินใจออกจาก RRQ เพื่อเป็นโค้ช MiTH PUBG ในปี 2021 เพราะนี่คือทีมที่ถูกมองว่า เป็นแค่กลุ่มสตรีมเมอร์ และไม่มีวันประสบความสำเร็จ Voo นำวิธีการวางแผน ระเบียบวินัยเข้ามาช่วยเหลือในวันที่ MiTH กำลังเผชิญสถานการณ์ย่ำแย่เกือบตกชั้นใน PUBG Thailand Series Season 6

แต่หลังจากนั้นในรายการ PUBG Thailand Open 2021 Winter Phase 3 เขาพา MiTH ที่เคยโดนสบประมาทคว้าแชมป์ไปครอง ได้สิทธิ์เข้าแข่งขัน PCS5 APAC ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากแผนในเกม คือการเชิญ ผศ. ดร. วิมลมาศ ประชากุล นักจิตวิทยาชื่อดังที่ช่วยเหลือ “น้องเทนนิส” คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2021 เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพ เหมือนที่เขาเคยทำมาแล้วในสมัย NearlyGod

“ผมเชื่อเรื่องจิตวิทยาตั้งแต่ปี 2004 จิตวิทยาเป็นตัวคลิกของทีม NearlyGod ให้ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาที่เกี่ยวกับภายนอกเกม เรื่องของการดูแลจิตใจ การปรับอารมณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเป้าหมาย และก็รวมไปถึงจิตวิทยาที่สามารถเอาไปใช้ในเกมได้ด้วย”

“แต่สำหรับผมตอนนี้มันอาจจะยังไม่ได้สำเร็จถึงเป้าหมายที่ผมตั้งเอาไว้ แต่ในความพอใจของผมเอง ผมรู้สึกว่า มันสำเร็จมากๆ ในเรื่องของระเบียบวินัย มุมมองของน้องที่เห็นอะไรมากขึ้น วิธีการเล่น รวมไปถึง ความสำคัญในเรื่องอื่นๆที่มากกว่าเกม การพักผ่อน การดูแลตัวเอง การให้ความสำคัญกับอาจารย์จิตวิทยา หรืออะไรพวกนี้ที่ผมเติม แล้วเขาเปิดรับค่อนข้างเยอะ”

อย่ามองความสำเร็จแค่ผลลัพธ์

May be an image of one or more people, people sitting, screen, laptop and indoor
Credit: Facebook Voo

ความสำเร็จหลังพา MiTH PUBG ก้าวมาถึงจุดหนึ่งที่วางเป้าหมายไว้ อาจเป็นสิ่งที่แฟนๆชื่นชม แต่สำหรับ Voo เขาภูมิใจมากกว่า เมื่อทำให้กลุ่มคนที่โดนครหามาตลอดก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

แต่ผลลัพธ์อาจเป็นแค่ปลายทาง เพราะเขาอยากเปลี่ยนมุมมองให้ผู้คนได้เห็นถึงแก่นแท้ของการพัฒนาทีมอีสปอร์ตมากกว่า

“มันเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยพูดที่ไหนเลยนะ จริงๆที่ MiTH กลับไปเล่นที่ APAC ได้ส่วนหนึ่งผมดีใจ แต่ผมไม่ได้ปลดล็อคแบบดีใจสุดๆ ถ้าผมจะดีใจสุดๆคือการได้เปิดมุมมองมากกว่าว่า คนกลุ่มนี้ที่เขาเป็น สตรีมเมอร์ก็ทำได้นะ อะไรก็ตาม ที่ทำให้อีสปอร์ตไทยมันสู้ต่างชาติได้ก็คือกลยุทธ์ มันคือการวางแผน กลยุทธ์ ระเบียบวินัย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักกีฬาของเราขาดมาโดยตลอดตามประสบการณ์ของผมนะ มันเลยทำให้เราสู้กับต่างประเทศไม่ได้ มีระเบียบ 2 วัน ไม่มีระเบียบ 4 วัน ก็เท่ากับไม่มีระเบียบ”

“ผมอยากให้คนเสพเรื่องนี้มากกว่า ผมถึงได้บอกว่า การที่ MiTH กลับไป APAC ผมก็ดีใจครับ แต่ดีใจไม่สุด ผมจะดีใจที่สุด คือผมอยากให้สังคมหรือคนที่ติดตาม MiTH หรือนักกีฬารุ่นใหม่ มองในอีกมุมมองว่า จากที่เราไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย เป็นเพียงสตรีมเมอร์ แต่ทำไมเราถึงกลับมาได้ และไม่ใช่ผมคนเดียว มันกลับมาได้เพราะพวกเขา มันกลับมาได้เพราะกลยุทธ์ มันกลับมาได้เพราะการวางแผน เพราะความเชื่อใจ การทำงานเป็นทีม และองค์ประกอบของบุคลากร ทรัพยากรในสังกัดที่คอยช่วยเหลือกัน” 

ไม่ใช่แค่นักกีฬาที่แบกรับความกดดัน แต่คนเป็นโค้ชต้องแบกความกดดันไม่แพ้กัน ช่วงหลังคว้าแชมป์ PTO 2021 Voo เคยออกมาประกาศเตรียมวางมือจากทีม และให้โค้ชช้าง CyD_z จากอคาเดมีรับไม้ต่อ ซึ่งเหตุผลหลักไม่ใช่เรื่องผลงาน แต่เป็นแก่นแท้ของการทำทีมอีสปอร์ตที่ไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่เขาทำ

“หลักการจริงๆของผมคือ ผมเป็นนักพากย์ ดังนั้นจุดมุ่งหมายของผมก็คือทำให้คนที่ไม่เล่นเกมเข้าใจ รวมไปถึงการอธิบายหรือแชร์แนวทางให้กับนักกีฬารุ่นใหม่ หรือคนที่ดูให้เข้าใจวงการอีสปอร์ตมากยิ่งขึ้น แต่ตรงนี้มันก็เลยดูจะขัดแย้งนิดๆสำหรับผมหมายความว่า เวลาที่ผมเป็นโค้ช ผมไม่ต้องมาอธิบายอะไรคนดู แต่เวลาที่เราลงมือทำบางสิ่งไป เราก็อยากให้น้องๆหรือสังคมรุ่นใหม่ได้เข้าใจเช่นกัน เพราะผมเป็นเหมือนกึ่งวิทยากรที่อยากให้น้องๆ และสังคมในวงการอีสปอร์ตได้เข้าใจถึงการทำทีมอีสปอร์ตจริงๆ แต่มันกลายเป็นว่า ผมค่อนข้างอึดอัดในบางอย่างกับสิ่งที่ผมวางแผนเอาไว้ แล้วไม่มีคนใครเข้าใจ แต่สุดท้ายพอมันสำเร็จเนี่ย ก็ไม่มีใครเห็นมันอยู่ดี เพราะกลับไปมองว่า มันสำเร็จเพราะเป็นความสามารถของผู้เล่น แต่จริงๆแล้วเนี่ยการทำงานหลังบ้านมันมีขึ้นตอนอะไรเยอะแยะมากมาย”

“ผู้เล่นก็ส่วนหนึ่ง โค้ชก็ส่วนหนึ่ง Analysis ก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะทำให้ทีมๆหนึ่งประสบความสำเร็จต้องมีหลายส่วน ถ้าเราให้ความสำคัญกับตรงนี้ ผมเชื่อว่าทีมอีสปอร์ตไทยจะประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ไม่มีคนเข้าใจ ผมก็เลยรู้สึกว่า ผมค่อนข้างที่อยากจะลาออก เพราะว่า ทำไปแล้วมันไม่ได้ทำให้สังคมมันดีขึ้น จริงๆผมไม่มีความจำเป็นต้องทำด้วยซ้ำ แต่มันมีคำๆหนึ่งที่ผมยึดมาตลอดชีวิตคือ ถ้าผมไม่ทำแล้วใครจะทำ ก็เลยยังคงทำอยู่แค่นั้นเอง” 

“แต่ตอนนี้ผมยังดูทีมเป็นหลักอยู่ครับ ส่วนโค้ชช้างก็ยังอยู่ทีมอคาเดมี แต่ที่ผมตัดสินใจถอยลงมา แล้วให้โค้ชช้างขึ้นไปคุมทีมในรายการ PCS5 APAC1 เพราะผมอยากให้เขาเข้าไปเจอกับความกดดันจริงๆ อยากให้เค้าเรียนรู้ว่า จริงๆแล้วเนี่ย การทำงานร่วมกับอาจารย์จิตวิทยาต้องทำงานแบบไหน ต้องรับมืออย่างไรถ้าเกิดปัญหาขึ้น แต่สุดท้ายก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้ขึ้นมาเก็บประสบการณ์”

“แต่สิ่งหนึ่งที่ประกาศลงไปในโซเชียลว่า จะให้โค้ชช้างขึ้นมาทำหน้าที่แทนผม เพราะผมต้องการให้เขารับมือกับพลังโซเชียลให้ได้ แต่จริงๆผมก็ยังคุมอยู่ข้างหลังเป็นหลัก”

แก่นแท้ของความสำเร็จ

May be an image of one or more people
Credit: Facebook Voo

จากประสบการณ์ผู้คร่ำหวอดวงการอีสปอร์ตไทย 25 ปี แม้หลายทีมของไทยจะเติบโตขึ้น ได้เฉิดฉายในระดับโลก แต่ในมุมมองของ Voo ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกลับถูกมองข้ามแก่นแท้ที่จะนำพาสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

“ตามประสบการณ์ของผมที่เป็นโค้ช ผมรู้สึกแบบนั้น แล้วมันเป็นกลไกหลักที่ทำให้นักกีฬาไทยสู้ต่างประเทศไม่ได้ เรียกว่า 3 วันดี 4 วันไข้ พอเราใช้คำว่านักกีฬาอาชีพ เราก็ต้องโฟกัสอยู่กับอาชีพของเราตลอดเวลา ต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เหมือนกับที่อาจารย์ปลาได้พูดกับผมเหมือนว่ามันไม่ใช่แค่วงการเกมนะ สิ่งที่เขาไปทำงานกับน้องเทนนิส หรือว่าเป็นสมาคมเทควันโด อย่างตัวโค้ชเช(โค้ชเทควันโดทีมชาติไทย) เขายังต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน มีระเบียบวินัยที่สูงมาก มีข้อห้ามบังคับ เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปสู้ระดับโลกได้ เราต้องลองดูโมเดลที่เขาทำสำเร็จ”

“น้องเทนนิสบอกว่าฝึกแบบนี้ 5 ปี เพราะโอลิมปิกถูกเลื่อน โดนผู้ชายเตะอยู่อย่างนั้นซ้ำอยู่5ปี กว่าจะได้เหรียญทอง แต่สุดท้ายผู้คนไปเสพการได้เหรียญทอง แต่ไม่ได้เสพวิธีการ นั่นคือสิ่งเดียวกันที่เกิดขึ้นกับวงการอีสปอร์ตที่ผมอยากจะถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับรู้ถึงวิธีก่อนประสบความสำเร็จด้วย”

“ถ้าเรามองเรื่องนี้เข้าใจ คนดูก็จะเข้าใจจะมีแต่การวิเคราะห์ ไม่มีด่ากันแบบไร้เหตุผล ไอ้อ่อน ออกไปเถอะ ห่วยจังเลย ทีมนี้แม่งไม่ได้เรื่อง อะไรแบบนี้”

“มันจะเกิดการพูดคุยในเชิงวิเคราะห์เหตุผลมากกว่า และสำคัญที่สุด ทีมไทยจะมีผลงานในระดับโลกมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ทีมเดียว ไม่ใช่แค่มี X10 Esports , FULL SENSE ไม่ใช่แค่ Buriram United Esports แต่อาจจะมีทีมที่ 4-5 และทีมต่อๆไป” 

แพชชั่นของชีวิต

ปัจจุบัน Voo เป็น CEO ของ FPSThailand และรับงานพากย์น้อยลงเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ แต่เขาให้คำมั่นจะยังไม่วางมือจากงานโค้ชแน่นอน เพราะมีสิ่งหนึ่งที่ยังไม่สำเร็จ นั่นคือทำให้ผู้คนทั้งในวงการอีสปอร์ตหรือนอกวงการ โดยเฉพาะนักกีฬาให้เห็นถึงแก่นแท้ที่จะนำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ

เหตุผลนี้กลายเป็นแพชชั่นที่เราจะได้เห็น Voo รับหน้าที่โค้ชอีสปอร์ตต่อไปจนกว่าจะถึงวันที่ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่เขาทำ…

“สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมยังรับการเป็นโค้ชอยู่ เพราะจริงๆผมไม่ได้อยากรับหน้าที่โค้ชเท่าไหร่ เพราะผมอยากให้คนเห็นสิ่งนี้มากกว่าว่า ในวันที่เราไม่มีระเบียบวินัย พอเราชนะได้ เราก็คิดว่าการทำแบบนี้มันดีแล้วพอมีโค้ชในประเทศไทย นักกีฬาก็ไม่เชื่อโค้ช เชื่อตัวเองมากกว่า มองกลยุทธ์ที่โค้ชวางให้มันน่าเบื่อ ก็ไม่ทำในสิ่งที่มันเป็นรากฐาน ชอบทำอะไรที่มันสนุก เอาจริงๆแล้วพื้นฐานมันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดนะครับ”
“ผมอยากจะทำให้สังคมเข้าใจ แล้วมองกลยุทธ์ การวางแผน ระเบียบวินัย ต้องบอกว่า ผลงานมันก็ส่วนหนึ่ง แต่สำคัญที่สุด ผมอยากให้มองจุดเล็กๆตรงนี้แหละที่จะทำให้จุดใหญ่ๆเกิดเป็นความสำเร็จได้” Voo ทิ้งท้าย

อ่านเพิ่ม: KirosZ : นักพากย์เกมและผู้อยู่ทุกช่วงเวลาการเติบโตของอีสปอร์ต