จัสมิน – ณัฐธิดา “JASMINNIIIZ” ปัญญาแก้ว เป็นที่รู้จักในฐานะสตรีมเมอร์สาวมากความสามารถ โดยเฉพาะกับวงการ Free Fire ยอดเกมบนมือถือที่ EVOS PHOENIX  ตัวแทนไทยเพิ่งคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 รายการ Free Fire World Series 2022 Bangkok

เธอคือสตรีมเมอร์ที่ทำให้ผู้ชมสนุกไปกับการเล่น และวิธีการนำเสนอที่น่าดึงดูดภายใต้ความน่ารักสดใสในแบบของตัวเอง แต่เบื้องหลังกว่าเธอจะทำตามความฝันสำเร็จ ไม่ได้มีรอยยิ้มหรือความสดใสเหมือนที่เป็นในทุกวันนี้

จากเด็กที่ชอบเล่นเกมคนหนึ่งผู้เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำจนเป็นสตรีมเมอร์ที่มีชื่อเสียง เธอทำได้อย่างไร กว่าจะมีวันนี้ JASMINNIIIZ ต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง ONE Esports จะขอพาคุณไปทำความรู้จัก และย้อนไปดูสตรีมเมอร์หญิงสุดแกร่งคนนี้ไปพร้อมๆ กัน

หนูน้อยจาก เจียงใหม่

ในยุคที่เกมออนไลน์เพิ่งเริ่มเติบโต กระแสความนิยม และจำนวนคนที่เข้าไปใช้บริการร้านเกมมีจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกับเกมที่ออกมาให้ผู้เล่นได้สนุกในความหลากหลาย โดยหนึ่งในเกมที่นิยมมากที่สุดคือ Audition สุดยอดเกมเต้นอันดับ 1 ที่จะได้ยินเสียงเคาะ Space Bar กันลั่นทุกๆ ร้าน

JASMINNIIIZ หรือ จัสมิน เป็นเด็กอีกคนที่หลงใหลในความสนุกของ Audition เรียกได้ว่า เป็นเกมแรกที่ทำให้เธอเริ่มเข้าสู่วงการนี้

“ตอนนั้นอายุประมาณ 15 จัส(จัสมิน) มีเพื่อนชวนเราไปเล่นเกมก็ไปร้านเกมด้วยกัน เป็นจังหวะที่ Audition กำลังมาพอดี เป็นเกมแรกเลยที่เริ่มเล่น เล่นไปตามเพื่อน” จัสมิน เล่าย้อนชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดเชียงใหม่ กับจุดเริ่มต้นเล่นเกมของตัวเอง

จัสมิน เหมือนเด็กทั่วไปที่ชื่นชอบการเล่นเกม แน่นอนว่าเกมไม่ได้จำกัดเพศหรืออายุ แต่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เธอทำนั้นครอบครัวของเธอจะยอมรับหรือเข้าใจไปด้วย

“ถือว่าหนักเลย” จัสมิน ตอบทันทีเมื่อถูกถามมุมมองครอบครัวที่มีต่อเกม “เราเป็นเด็กผู้หญิง และเกมในตอนนั้น ผู้ใหญ่ก็จะมองว่า มันเป็นของเด็กผู้ชายเล่น ผู้หญิงก็อาจจะไปเรียนนาฏศิลป์”

“ครอบครัวจะมองเป็นแบบนั้น ไม่ค่อยโอเคที่เราเล่นเกม เพราะมันทำให้เสียการเรียน จะแบ่งเวลาไม่ได้นะ มองถึงอนาคตว่า เราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้นะเช่นติดเกม ตกงานอะไรแบบนี้”

“ตอนนั้นก็พยายามจะทำให้ได้ เราก็ยังเล่นเกมในเวลาว่าง แต่ก็พยายามไม่ให้ผลการเรียนมันลดลง แต่พ่อก็จะไม่ค่อยห้ามแล้ว พ่อจะบอกเสมอว่าเล่นได้ แต่อย่าให้เสียการเรียน อย่าให้ผลการเรียนตก ถ้าผลการเรียนตกก็จะไม่อนุญาตให้เล่น แต่สำหรับแม่ แม่ก็ยังไม่ได้เห็นด้วย”

จากคำสัญญาที่ให้กับคุณ จัสมิน เล่นไปพร้อมตั้งใจเรียนไปด้วย เธอเป็นคนหัวดีวิชาการเด่น และสนุกกับกิจกรรมของโรงเรียนอยู่เสมอ ส่วนผลการเรียนที่ออกมาพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า การเล่นเกมของเธอไม่ได้ส่งผลกระทบเรื่องเรียนแม้แต่น้อย 

“ตอนม.ต้น ค่อนข้างจะเป็นเด็กกิจกรรม ไปแข่งงานวิชาการ แข่งนาฏศิลป์ แข่งประกวดความสามารถ ถือว่าอยู่ในระดับดีของชั้น ได้เกรดเฉลี่ย 3.5 ก็เยอะอยู่นะคะ (หัวเราะ) ตอนนั้นโรงเรียนมีชั้นเรียนถึงแค่ ม.3 เลยต้องไปต่อม.4 ที่โรงเรียนอื่น ที่บ้านอยากให้เรียนโรงเรียนประจำจังหวัด เป็นโรงเรียนมีชื่อของจังหวัด มันเลยค่อนข้างกดดัน”

ด้วยความเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี ครอบครัวจึงหวังให้เธอมีหน้าที่การงานที่ดี โดยพื้นฐานคุณพ่อของจัสมินเป็นเกษตรกร ส่วนคุณแม่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ความต้องการเห็นลูกมีอนาคตที่ดีคือความฝันของพวกเขา

“เวลาเล่นเกมของจัส เป็นช่วงหลังเลิกเรียน แล้วก็จะใช้วิธีการเคลียร์งาน เคลียร์การบ้านทุกอย่างให้เสร็จที่โรงเรียน พอเลิกเรียนปุ๊บ จัดเก็บกระเป๋า จัดการเสื้อผ้าแล้วก็ออกไปเล่นเกม ที่บ้านก็คาดหวังให้เรา โตไปมีงานมีอาชีพการงานที่ดี จะไม่ต้องลำบากเหมือนคุณพ่อคุณแม่”

“พ่อก็อยากให้เรียนสายแพทย์ แม่ก็คืออะไรก็ได้ที่ตั้งหลักชีวิตได้ แต่ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เป๋ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะว่าด้วยการที่เจอเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ เจอคนหลายๆแบบ กลุ่มอาชีพก็จะเปลี่ยนไป ไม่ได้มีน้อยเหมือนตอนม.ต้น ที่มีแค่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พอชั้นม.ปลายปุ๊บ เริ่มเปิดโลกกว้างขึ้นแล้ว คือมีหลายอาชีพที่น่าสนใจทำให้เราเริ่มสับสน”

ช่วงมัธยมปลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับอนาคตที่ต้องเลือกศึกษาในสายอาชีพที่อยากจะเป็น แต่การเติบโตผ่านยุคสมัยที่ทำให้โลกของเธอเปิดกว้างมากขึ้นก็ทำให้ จัสมิน เริ่มค้นหาตัวเองว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เธอต้องการจะเป็นคืออะไร

จนกระทั่งเธอรู้ความต้องการ และความฝันของตัวเองเมื่อเห็นช่องทางทำรายได้จากเกมที่กลายเป็นอาชีพได้จริง

มีฝันต้องฝ่าฟัน

ในช่วงแรกอีสปอร์ตยังไม่ได้เติบโตหรือเป็นที่ยอมรับในสังคมเหมือนทุกวันนี้ ทำให้ช่วงตั้งไข่ของ จัสมิน ที่อยากหารายได้จากเกมจึงเป็นเรื่องยาก

เธอยังคงเริ่มต้นจากตระเวนแข่งเพื่อความสนุกภายในร้านเกม จากนั้น Overwatch กลายเป็นเกมที่ทำให้ จัสมิน เริ่มคลุคลีกับการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเพราะสนุกตื่นเต้นยิ่งกว่าตอนแข่ง Audition บวกกับความกดดันที่เพิ่มความตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจชักชวนเพื่อนสร้างทีมเพื่อเดินสายแข่งรายการต่างๆ เท่าที่จะทำได้

ตอนนั้น จัสมิน สร้างทีมกับเพื่อนในจังหวัดเชียงใหม่ลงแข่งขัน Overwatch แต่เน้นเพื่อความสนุกไม่ได้มองถึงแชมป์ ได้รางวัลก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรขอแค่ได้สนุกไปกับการแข่งก็พอ

จัสมิน สอบติด คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นช่วงหนักหน่วงในชีวิต เพราะต้องทุ่มเทเรื่องเรียนอย่างหนัก แต่ก็ยังอยากเล่นเกมได้เต็มที่ทำให้ทั้งสองอย่างไปกันได้ไม่ลงตัว จนถึงจุดหนึ่งที่ จัสมิน ยอมรับว่าเป็นวันที่เธอรู้สึกแย่ที่ทำให้ครอบครัวเสียใจกับการตัดสินใจของเธอ

“พอเข้ามหาวิทยาลัย ต้องบอกว่าค่อยๆ หนักหน่วงขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการเรียน ทั้งสิ่งที่เราอยากทำคืออยากเล่นเกมอยู่ มันมีช่วงหนึ่งที่ชีวิตค่อนข้างจะหนัก มีปัญหาหลายอย่างถาโถมเข้ามา สุดท้ายต้องตัดสินใจดรอปเรียน”

“แต่จริงๆ เราเริ่มรู้สึกมาก่อนแล้วว่า เราเรียนไม่ค่อยไหวตั้งแต่ปีแรกๆ อยู่แล้ว พอมันเริ่มปี 2-3 มันก็หนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก็เลยต้องดรอปเรียน”

“ตอนตัดสินใจดรอปเรียน พ่อกับแม่ค่อนข้างตกใจมากว่า ทำไมถึงเรียนไม่ไหว เขาคิดว่าเป็นเพราะเกมหรือเปล่า แต่จริงๆ ไม่ใช่ที่เราดรอปเพราะรู้สึกว่า เราเรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่ปีหนึ่งแล้ว มันเป็นที่ตัวเราเองมากกว่า”

“ตอนนั้นเราตัดสินใจคุยกับพ่อแม่ว่า มันเป็นเรื่องปกตินะ คนอื่นเขาก็มีดรอปกัน (หัวเราะ) ตอนนั้นก็ทำเขาเสียใจอยู่ แต่สัญญากับเขาว่า เดี๋ยวจะเอาปริญญามาฝาก แค่ยังไม่ใช่ตอนนี้”

หลังจากดรอปเรียน การต่อสู้ของ จัสมิน ก็ได้เริ่มต้นขึ้น…

เธอตัดสินใจทำงานหาเงินด้วยตัวเอง ซึ่งรายได้ทางหนึ่งที่เรียนว่าเป็นรายได้หลักของเธอมาจากการขายของในเกมรวมถึงทัวร์นาเมนต์แข่งขันที่เธอเข้ามาร่วมสนุกด้วยเสมอ เมื่อได้เงินรางวัลมาก็จะนำมาเก็บสะสม นับเป็นรายได้ก้อนแรกๆ ที่เธอสามารถหาเงินจากเกมอย่างจริงจัง

หลังดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอไม่ได้ทิ้งการเรียนเพราะย้ายไปเข้าศึกษาต่อในสถาบันอื่น เธอต้องการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อแม่ และยังคงรู้สึกอยู่เสมอ เมื่อนึกย้อนถึงวันที่เคยขอดรอปเรียน ระหว่างเรียนเธอยังคงแข่งเกมไปด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ PUBG 

“เราก็ไม่รู้เขามองว่าเราเก่งหรือเปล่า” จัสมิน เล่าถึงทีมแข่งเกมทั้ง Overwatch และ PUBG ที่เพื่อนร่วมทีมส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย “แต่ว่าจัสโชคดีตรงที่ว่า เขาไม่ได้เลือกคนที่เก่งสุด ไม่ได้ซีเรียสว่าจัสต้องเก่ง เราเล่นแล้วสนุกมันเป็นแบบนี้มากกว่า ตอนแข่งก็มีกดดันมีตื่นเต้นอะไรบ้าง”

“ส่วน PUBG ต้องบอกว่าตอนนั้นจัสมีเพื่อนร่วมทีมที่เก่งมาก อยู่ในทีมใหญ่ๆ ทีมมีชื่อเสียงหลายทีม เราก็แบบโอ้โห ได้เป็นเพื่อนกับนักกีฬาอีสปอร์ตจริงๆ ด้วย (หัวเราะ)”

ช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากจะแข่งเกม PUBG กับเพื่อนร่วมทีม ก็เป็นช่วงเดียวกับที่เธอเริ่มต้นเส้นทางใหม่ของตัวเองไปด้วย ก่อนที่ต่อมาสิ่งนี้จะทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังนั่นคือ สตรีมเมอร์

สตรีมเมอร์ในชื่อ JASMINNIIIZ

จัสมิน เริ่มต้นเป็นสตรีมเมอร์จากเกม PUBG โดยเริ่มจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่อยากเห็นเธอสตรีมเกมให้ดู กลายเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้ต่อมาสามารถขยายฐานไปสู่แฟนเกมคนอื่นๆ จนทำให้ชื่อของ JASMINNIIIZ เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“เวลาเล่นเกมจัสค่อนข้างจะ Hardcore เกมเมอร์อยู่ คือเล่นเกมไหนก็จะเอาให้สุดเกมนั้น อย่าง PUBG ก็จะเล่นทั้งวัน เล่นตั้งแต่เพื่อนทำงานจนเลิกงาน ระหว่างที่เขาดินทางก็จะเข้ามาคุยกับเราใน Discord ว่า สตรีมให้เพื่อนดูหน่อย ก่อนเข้าวงการอีสปอร์ตก็เริ่มจากเพื่อนนี่แหละ”

“จริงๆ มันเริ่มจากสตรีมให้เพื่อนดูมากกว่า ไม่ได้คาดหวังว่า จะเป็นสตรีมเมอร์หรอก ไม่เคยคิดว่า จะมีชื่อเสียงหรือคนดูมากมายอะไรขนาดนั้น แต่ก็มีเพื่อนใหม่แวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ เขาก็เริ่มจะถามว่า มีโดเนทไหม อยากโดเนท Subscribe แล้วก็มีส่งของขวัญให้ เตอนแรกเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็ไปดูคนอื่น เห็นเขามีกด Sub กดอะไรให้คนอื่น แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีคนอยากให้เราเหมือนกัน”

ปัญหาที่สตรีมเมอร์หลายคนต้องเจอคือเสียงวิจารณ์หรือคอมเมนต์ด้านลบระหว่างสตรีม ไม่ว่าจะวิจารณ์เรื่องฝีมือ วิธีการนำเสนอ ไปจนถึงการคุกคามที่เกินกว่าเหตุ ซึ่ง จัสมิน เคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันมาแล้วในช่วงแรกที่เพิ่งเริ่มต้น

“ตอนแรกกับ PUBG ไม่มีปัญหา แต่พอเปลี่ยนเกม เปลี่ยนที่สตรีม คนเยอะขึ้นก็จะมีคอมเมนต์ไม่ดีๆ ทั้งแบบ 18+ เอย เล่นกากเอย ไก่ ส่วนใหญ่ของจัสจะโดนคุกคาม ตอนแรกก็จิตตกอยู่พักหนึ่ง แต่จัสก็ยังดีที่มีคนรอบตัวให้คำปรึกษา อีกอย่างหนึ่งก็จะมีน้องๆ ที่ดูสตรีมคอยปกป้องเราว่า ควรให้เกียรติเรา พูดกับเราดีๆ ตอนนั้นจัสก็ปรึกษากับคนใกล้ตัวอยู่ตลอด ซึ่งก็จะบอกว่า มันเป็นสิ่งที่เราต้องผ่านไปให้ได้ เพราะว่าเวลาเรารู้จักคนเยอะ มีคนจำนวนมากมองเห็นเรา มันก็จะมีทั้งคนที่ดี และคนที่ไม่ดีเข้ามา”

“แต่มีคนกลุ่มน้อยมากๆ ที่เป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าเราไปโฟกัสกับคนกลุ่มตรงนั้น แต่คนที่เขารักเราตรงนี้ล่ะ ซึ่งมีเยอะกว่า เราก็ควรจะให้ความสำคัญกับคนที่รักเรามากกว่า ตอนนั้นก็เลยเริ่มคิดได้ว่า ปล่อยผ่านไปไม่สนใจไม่อ่านคอมเมนต์พวกนั้นเลย”

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง จัสไปงานออฟไลน์เกม Free Fire จัสก็ไปในฐานะคนปกติ แต่พอไปถึงงานก็มีน้องๆ มาทักทาย มาขอถ่ายรูป ซึ่งตอนนั้น จัส ไม่ได้คิดว่า จะมีคนรู้จักเรามากขนาดนั้น น้องๆ เพื่อนๆ เข้ามาทักทายกันทั้งงานเลย ตอนนั้นก็ตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูก โอ้โห มันเป็นความประทับใจแรกที่รู้สึกดีจริงๆ พอกลับบ้านไปก็คุยกับเพื่อนแล้วก็แอบร้องไห้ด้วยความดีใจ” 

เบื้องหลังความสำเร็จกับบทบาทสตรีมเมอร์ของ จัสมิน ไม่ใช่แค่ฝีมือเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำให้คนติดตามเธอคือความเป็นตัวเองในแบบของ JASMINNIIIZ ที่ไม่ว่าจะดูกี่ครั้งก็ชวนให้น่าติดตามเสมอ

“จัสไม่ได้มองว่า ฉันเป็นสตรีมเมอร์นะ เธอเป็นคนดูนะ แต่เรามองว่า เราเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกัน เราสามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง เวลาน้องมีปัญหามาคุยกับพี่ได้ เขาเข้ามาดูเรา เราก็มอบความสุข ความสนุก มอบพลังบวกกลับไป”

“ถ้าน้องๆ พอมีปัญหาเรื่องการเรียนอะไรอย่างงี้ ด้วยความที่เราเป็นพี่เนอะ เราก็สามารถแนะนำน้องได้ในแบบของเรา เหมือนเราไม่มีระยะห่างกับคนดูเยอะ หลักๆ คือ จัส อยากให้คนดูเขาได้รับความสุขกได้พลังบวกกลับไป”

“เพราะแต่ละวันทุกคนอาจทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย ถ้าเขาเข้ามาดู จัส เราก็อยากให้เขาเข้ามาแล้วมีความสุขกลับไปมากกว่า” จัสมิน ทิ้งท้าย

บทความนี้นำเสนอสู่คุณโดย Omne by FWD

JASMINNIIIZ สตรีมเมอร์ผู้มีจิตใจเข้มแข็งได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ไม่ว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากจะผ่านไปแค่ไหน คุณก็มีศักยภาพที่จะบรรลุผลได้ ตราบใดที่คุณมีสมาธิ รับแรงบันดาลใจดีๆได้ที่นี่

ติดตามเรื่องราวของ JASMINNIIIZ ที่มากกว่านี้ใน EP.2 ได้

อ่านเพิ่ม: EP.1 เบื้องหลังการเดินทางสู่แชมป์ Overwatch ของ Patiphan