ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้งในฐานะสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะการนำ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพด้านธุรกิจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ AI เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราไปแล้ว และแน่นอนว่าวงการอีสปอร์ตที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีก็ต้องมี AI เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก ในโอกาสนี้ ONE Esports จะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับผู้นำด้าน AI วงการอีสปอร์ตของไทย ที่ไม่ธรรมดา ตั้งแต่วิสัยทัศน์จนถึงรูปแบบการทำงานที่เรียกได้ว่า เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการเกม และอีสปอร์ตไม่น้อยทีเดียว

และบริษัทที่เรากำลังพูดถึงก็คือ บริษัท Sportlyze (สปอร์ตไลซ์) ประเทศไทย จำกัด…

เริ่มต้นจากฟุตบอล

Sportlyze ถือกำเนิดขึ้นในปี 2017 โดยมี คุณเอ็กซ์ วรวุฒิ พิรักษา นักธุรกิจหนุ่มวัย 36 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านกีฬาและอีสปอร์ต เป็น Deep Tech Startup ด้านกีฬาและอีสปอร์ต รายแรกของเมืองไทย เน้นการใช้เทคโนโลยี Artificial intelligence (AI) , and Machine Learning Technology ,Computer Vision เพื่อมาพัฒนาวงการกีฬาและอีสปอร์ต 

การเติบโตของ Sportlyze นับว่าน่าสนใจ เมื่อเริ่มก่อตั้งในปี 2017 ซึ่งช่วงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียสร้างบริษัทขึ้นมา จากนั้นในปี 2018 ถูกเลือกเป็นหนึ่งใน Startup ที่ได้รับเงินลงทุนสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2018 มูลค่าการลงทุน 1 ล้านบาท กระทั่งปี 2019 กลายเป็นปีที่ Sportlyze กระโดดเข้าสู่ธุรกิจอย่างจริงจัง

“จุดเริ่มต้นของของการก่อตั้งบริษัท Sportlyze เดิมเราทำบริษัทรับพัฒนาซอฟต์แวร์ และ แอปพลิเคชั่น อยู่แล้ว” วรวุฒิ กล่าวกับ ONE Esports ถึงจุดเริ่มต้นการเดินทางของ Sportlyze

“โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบดูฟุตบอล ติดตามฟุตบอลไทยมานานตั้งแต่ยุคที่เรายังไม่มีการถ่ายทอดสดหรือการแข่งขันที่เป็นรูปแบบลีก เวลามีแข่งขันทีมชาติก็จะมีเว็บบอร์ดหนึ่งที่ถ้าเป็นแฟนฟุตบอลไทยจะรู้จักกันดี”

“ผมเป็นคนที่เวลาบอลเตะจบจะเข้าไปอ่านคอมเมนต์ดูว่า แฟนบอลคิดยังไง ก็เห็นอยู่เรื่อยๆ ว่า ปัญหาฟุตบอลไทยอย่างหนึ่งที่ขาดคือขาดวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาพัฒนาทีมชาติของการเก็บข้อมูลสถิติก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ฟุตบอลไทยยังขาด เราเลยอยากจะทำเทคโนโลยีด้านนี้ขึ้นมา ก็เลยเกิดเป็น Sportlyze โฟกัสไปที่เรื่องพัฒนาเทคโนโลยี การใช้ AI เข้ามาช่วยจัดสถิติว่า การเล่นของนักฟุตบอลแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง”

จากความชอบฟุตบอลทำให้เขาเห็นโอกาสในธุรกิจที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาช่วยพัฒนาสโมสรต่างๆ โดยช่วงที่ฟุตบอลไทยลีก เริ่มวางระบบอาชีพเป็นช่วงเดียวกับที่ Sportlyze เข้าไปพูดคุยกับบางสโมสรที่ทำให้เห็นโอกาสชัดเจนขึ้น แต่ก็มีความยากอยู่เช่นกัน นั่นคือเรื่องของลีกประเทศไทยที่คุณภาพของสนามยังไม่ได้มาตรฐาน เช่นความสูงของอัฒจันทร์ไม่เพียงพอที่จะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้เห็นผู้เล่นทั้งสนาม อีกทั้งเรื่องงบประมาณบางสโมสรยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยี

รูปแบบการทำงานของ Sportlyze จะใช้ซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยทีมงานจะติดตั้งกล้องไว้ที่สนามเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งคุณเอ็กซ์ วรวุฒิ เล่าถึงความยากในขั้นตอนการทำงานว่า

“ความยากที่สุดในเรื่องของความแม่นยำเป็นตัวสภาพสนาม เป็นปัจจัยหนึ่งของการทำตัวเทคโนโลยีนี้ เพราะบางสนามเราต้องการมุมกล้องค่อนข้างสูงเพื่อให้เห็นผู้เล่นทั้งสนาม แต่เนื่องด้วยอัฒจันทร์ในลีกบ้านเราส่วนใหญ่ยังไม่สามารถจะวางแบบนั้นได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราเจอเยอะ มีไม่กี่สนามที่เราสามารถใช้งานได้จริงๆ”

“การทำงานกับสโมสรในช่วงแรกๆ บางสโมสรก็ให้คำแนะนำเราว่า มันเป็นสิ่งที่เขาอยากได้ แต่ข้อมูลที่เขาอยากรู้มันมีอะไรบ้างเช่น ข้อมูลรายบุคคล เรื่องสปีด คือสิ่งที่เขาอยากรู้ ข้อมูลการวิ่งตลอดทั้งเกมเป็นอย่างไรเพื่อทำเป็น KPI วัดความฟิตของนักเตะในการทำงานตามแทคติกโค้ช ซึ่งเราก็เอาคำแนะนำกลับมาพัฒนา”

ช่วงแรก Sportlyze มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับ นครราชสีมา ห้วยแถลง ยูไนเต็ด ซึ่งถือเป็นสโมสรฟุตบอลกลุ่มแรกร่วมงานกันรวมถึง ขอนแก่น เอฟซี ซึ่งต่างให้คำแนะนำเพื่อนำไปพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งธุรกิจต้องสะดุด เมื่อโควิด-19 ระบาด ทำให้ฟุตบอลไม่สามารถแข่งขันได้ นั่นหมายความว่า การวิเคราะห์หรือรูปแบบธุรกิจของ Sportlyze ถูกลดงานไปด้วย

แต่ในวิกฤตินั้นคุณเอกซ์ วรวุฒิ เห็นโอกาสครั้งใหม่ นั่นคืออีสปอร์ต กีฬาที่ยังสามารถแข่งขันได้ตามปกติ แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้เขาเริ่มสนเข้าสู่ตลาดอีสปอร์ตจริงจัง

จากสนามฟุตบอลสู่อีสปอร์ต

จากสนามฟุตบอลสู่อีสปอร์ต

“เราเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยีกับกีฬาอื่นๆ อย่างอีสปอร์ต” วรวุฒิ พิรักษา ผู้ก่อตั้ง Sportlyze กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเข้ามาจับธุรกิจในอีสปอร์ต

“อีสปอร์ตถือเป็นกีฬาอีกชนิดที่ได้รับการยอมรับจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย และทั่วโลกว่าเป็นกีฬาที่มีมูลค่าการตลาดค่อนข้างสูง เราเลยเอาเทคโนโลยีที่เรามีมาประยุกต์ใช้กับอีสปอร์ตทั้งฝั่งเรื่องพัฒนาผู้เล่น และพัฒนาคอนเทนต์ในการวิเคราะห์เกมอย่างเช่น FIFA ,Efootball”

“เรามีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย” วรวุฒิ กล่าวต่อ “ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทสื่อ และธุรกิจเกี่ยวกับกีฬา เราก็คุยกันว่า น่าจะทำโปรเจกต์เกี่ยวกับอีสปอร์ต ซึ่งเขาเห็นเราทำเทคโนโลยีฟุตบอลอยู่แล้ว และมีโปรดักต์ใหม่ที่เกี่ยวกับตัวเกม FIFA,Efootball ก็เลยชวนเราไปร่วมงานในทัวร์นาเมนต์ระหว่างทีมตัวแทนจากมาเลเซียเจออินโดนีเซียที่จัดแข่งกัน”

แม้จะต่างกีฬา แต่เรื่องของนำเสนอไม่ต่างกัน เพราะอยู่ในรูปแบบการวิเคราะห์เกมที่ Sportlyze ใช้กับฟุตบอลอยู่แล้ว ซึ่งกราฟิกวิเคราะห์ก็ใช้วิธีการ และรูปแบบเหมือนฟุตบอลจริง ความเข้าใจต่างๆ ก็เป็นพื้นฐานของฟุตบอลที่เหมือนกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามอาจมีความต่างเล็กน้อยเกี่ยวกับสิ่งที่ Sportlyze ต้องวิเคราะห์

“เรื่องสถิติจากเดิมที่เราจะวิเคราะห์ผู้เล่นในสนาม แต่ในอีสปอร์ตเราจะวิเคราะห์การเล่นของคนที่บังคับเกมหรือนักกีฬาอีสปอร์ตว่า เขามีการวางแผนบุกยังไง ชอบบุกซ้ายหรือขวา ยิงไกล หรือยิงใกล้ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการเล่นที่เขาจะได้เห็นรูปแบบหรือสไตล์การเล่นว่า จากทีมไหนเป็นยังไง”

Qbit AI รูปแบบธุรกิจที่ต้องการเปิดโอกาสสำหรับทุกคน

จุดเด่นของ Sportlyze ไม่ได้อยู่ที่การวิเคราะห์เท่านั้น เมื่อต่อยอดไปถึงการสร้างรายได้จากโฆษณาให้กับผู้ใช้งาน ภายใต้ความมุ่งมั่นที่อยากเปิดกว้างสำหรับโอกาสของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นสตรีมเมอร์ผู้ติดตามน้อยหรือคนเล่นเกมทั่วไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ วรวุฒิ พิรักษา ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Qbit AI

“เริ่มแรกตัว Sportlyze ของเราสามารถจะใส่โฆษณาเข้าไปในไฮไลท์ในเกม FIFA หรือ eFootball ได้ หลังจากนั้นเรามองว่า มันมีอีกหลายเกมที่เราสามารถใช้กับเทคโนโลยีของเราได้ เราเลยพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาชื่อ Qbit AI” วรวุฒิ กล่าว

“Qbit AI เหมาะสำหรับกลุ่มวิดีโอคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไม่ว่าจะคนเล่นเกมหรือสตรีมเมอร์ก็สามารถหารายได้จากโฆษณาได้ ตรงนี้ทำให้คนที่เล่นเกมอื่นๆ เช่น CS:GO, Call of Duty สามารถหารายได้ เพียงแค่เปิดโหมดโฆษณาที่เวลาเล่นเกมก็แค่เปิดโหมด Qbit AI แล้วก็สตรีมออกไปผ่าน Facebook หรือ Youtube”

“สมมติเราเล่น CS:GO แล้วเดินผ่านกำแพง ตรงกำแพงที่เราวางโฆษณาเอาไว้ก็จะผุดขึ้นมา เมื่อโฆษณาขึ้นมาแล้วมีคนดู ตัวแพลตฟอร์มก็จะคำนวณรายได้ และส่วนแบ่งให้”

วรวุฒิ กล่าวต่อถึงการทำงานโฆษณา Qbit AI ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่คอนเซปต์ของเขาที่ต้องการเปิดโอกาสให้กับทุกคน ดังนั้นเงื่อนไขที่ผู้ใช้บริการจะทำรายได้จากโฆษณาจึงไม่มีข้อจำกัดมากนัก

“มันจะมีสองโหมด โหมดแรกคลาสสิกโหมด เราแค่ดาวน์โหลดแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์ Qbit AI แล้วนำไปติดในคอนเทนต์ของตัวเองเป็นคอนเทนต์อะไรก็ได้แล้วก็อัปโหลดบนแพลตฟอร์มต่างๆ เสร็จแล้วเอาลิงก์ที่อัปโหลดมาลงทะเบียนกับ เว็บไซต์ Qbit AI หลังจากมียอดวิวเกิน 1 ครั้ง เราก็จะสามารถสร้างรายได้ตรงนี้ได้แล้ว”

“ส่วนโหมด AI เหมาะสำหรับกลุ่มทำคอนเทนต์วิดีโอเกมที่จะช่วยให้เราสร้างโฆษณาเข้าไปแทนจุดต่างๆ ในวิดีโอเกมได้ เวลาเดินผ่านกำแพงหรือป้ายต่างๆ ก็จะมีโฆษณาขึ้นมา”

“ตัวโมเดล Qbit AI เราเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่จำกัดว่าสตรีมเมอร์จะต้องมีผู้ติดตามหลักพันคนขึ้นไปถึงจะสร้างรายได้ตรงนี้ได้ ซึ่งมันเป็นข้อจำกัดของหลายคนในการทำคอนเทนต์กว่าที่คุณจะเริ่มสร้างรายได้ต้องมีเงื่อนไขขั้นต่ำมากมายลงคลิปต่อเนื่องหรือคนติดตามเท่าไหร่มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้คนอาจท้อเลิกทำไปก่อน”

“แต่เงื่อนไขของเรา เราโฟกัสแค่คุณต้องสร้างยอดวิวให้ได้ KPI ตามกำหนดของเรา แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องมีคนติดตามเยอะ เงื่อนไขของเราค่อนข้างต่ำมาก” วรวุฒิ กล่าว

พาร์ทเนอร์บริษัทระดับโลก

ปัจจุบันการเติบโตของ Sportlyze ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เมื่อจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรระดับโลกอย่าง Shadow บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการวิเคราะห์อีสปอร์ตชื่อดังของประเทศเยอรมัน ซึ่งก่อตั้งในปี 2016 และได้รับความน่าเชื่อถืออีกทั้งยังทำงานร่วมกับทีมอีสปอร์ตระดับโลกหลายทีม โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ทำให้ Sportlyze ยกระดับอีกขั้น เมื่อพวกเขาจะทำหน้าที่ดูแลเทคโนโลยีทั้งหมดของ Shadow

“จุดเด่นของ Sportlyze เราเริ่มต้นจากการ Analysis Sports ปัจจุบันมีเรื่องวิเคราะห์อีสปอร์ตเข้ามา เราน่าจะเป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำด้านนี้อย่างจริงจัง”

“ปัจจุบันเราก็มีพาร์ทเนอร์ที่ทำเรื่องอีสปอร์ตระดับโลกอย่าง Shadow เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กัน เขาทำงานกับลีก ESL เป็นลีกที่มีทีมชั้นนำหลายทีม โฟกัสเรื่องเก็บข้อมูล สถิติของเกม CS:GO, Dota 2 และ LoL รูปแบบความร่วมมือเราพูดคุยกันว่า Sportlyze จะเข้าไปดูเทคโนโลยีทั้งหมดในตัว Shadow”

“เดิมเรามี FIFA,Efootball และฟุตบอลที่เป็นกีฬา แต่ปัจจุบันหลังเป็นพาร์ทเนอร์กับ Shadow เราก็มีเกม CS:GO, Dota 2 และ LoL เข้ามา ทั้ง 3 เกม เป็นเกมที่ให้บริการกับทีมชั้นนำในลีก ESL (ลีกอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก) อยู่แล้ว”

คุณเอ็กซ์ วรวุฒิ ได้ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ที่พูดกันติดปากว่า นี่คือสิ่งที่บริษัทของเขานำมาใช้ตั้งแต่ต้นสำหรับธุรกิจนี้ เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์ของคนทำงานอีสปอร์ต ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นแบบแผนที่เขาวางไว้แล้ว โดยมี AI เป็นเทคโนโลยีหลัก

“เราใช้คำว่า AI มาหลายปี ก่อนที่คนจะนิยม และพูดกันติดปาก เราใช้มาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งมันเป็น Vision ของ Sportlyze ที่เราอยากเอาเทคโนโลยีด้าน AI มาพัฒนาวงการกีฬา และอีสปอร์ตในระดับโลก เป็นสิ่งที่เราวางแผน และตั้งใจไว้”

“เรามองว่า AI ถ้าในด้านกีฬาเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเรื่องรวบรวมข้อมูลช่วยตัดสินใจสำหรับโค้ชหรือทีมที่ทำให้โค้ชมีข้อมูลรอบด้าน มีคนหาข้อมูลให้”

นอกจากจะพัฒนาธุรกิจของตัวเอง คุณเอ็กซ์ วรวุฒิ ยังได้จับมือเซ็น MOU กับ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเข้ามาสนับสนุนด้านการเรียนการสอนของนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์เกมและอีสปอร์ต วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยจะทำการสอนระดับปริญญาตรี ในรายวิชา professional gamer and esports player หรือนักเล่นเกมส์มืออาชีพและนักกีฬาอีสปอร์ต เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตและนักเล่นเกมส์มืออาชีพเทคโนโลยีด้านอีสปอร์ต โดยจะถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ตรงของ Sportlyze ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงแพลตฟอร์มการสร้างรายได้จากอีสปอร์ต และการวิเคราะห์อีสปอร์ต

นอกเหนือจากนี้ Sportlyze มีโปรเจกต์พิเศษที่จะทำร่วมกับสถานศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรอีสปอร์ต โดยวางแผนเริ่มต้นในปีการศึกษาหน้า ซึ่งเนื้อหาที่จะถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษาคือความรู้ตั้งแต่ต้นว่า อีสปอร์ตคืออะไรไปจนถึงการสร้างรายได้จากเกมรวมถึงแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญจะเจาะลึกการวิเคราะห์ของตัว Sportlyze ไปพร้อมกับความรู้จากพาร์ทเนอร์ใหม่อย่าง Shadow ด้วย

Sportlyze กับเป้าหมายสู่ระดับโลก

หากไล่เรียงนับจากจุดเริ่มต้นของไอเดียสร้างโมเดลเพื่อก่อตั้ง Sportlyze เมื่อปี 2017 ถึงวันนี้บริษัทที่ คุณเอ็กซ์ วรวุฒิ ลงทุนลงแรงได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 เต็มตัว แต่ Sportlyze ยังไม่หยุดพัฒนา เพราะโอกาสการทำงานในระดับโลกของอีสปอร์ตคือสิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายไว้แล้ว

“สำหรับ Sportlyze ในปีนี้ และปีหน้าเรามองไว้สองแบบ เราจะมี Shadow เข้ามาร่วมด้วยทำให้นอกจากเราจะมองตลาดในเมืองไทยแล้ว เราจะโฟกัสการให้บริการสำหรับกลุ่มทีมอีสปอร์ตทั่วโลกด้วยรวมถึงกลุ่มนักเล่นเกมมือสมัครเล่นที่เราพยายามจะมีโปรดักต์ใหม่ๆ ขึ้นมา”

“เดิมทั้ง Sportlyze และ Shadow จะโฟกัสสำหรับทีมอีสปอร์ตอาชีพเป็นหลักอยู่แล้ว ปีหน้าเราก็อยากมีโปรดักต์สำหรับกลุ่มคนเล่นเกมทั่วไปหรือคนที่อยากก้าวเข้ามาเป็นนักกีฬาอาชีพก็นำตรงนี้ไปใช้งาน”

วรวุฒิ ทิ้งท้ายถึงการเติบโตของ Sportlyze ว่า ที่ผ่านมายังมีติดขัดเพราะโรคระบาดโควิด-19 แต่ทิศทางจากนี้พวกเขาจะนำพาเทคโนโลยีของตัวเองไปเปิดตลาดในระดับโลกได้อย่างแน่นอน

“มันเป็นสิ่งที่เรามองไว้ และอาจจะยังไม่ได้ตามเป้าจากสถานการณ์หลายอย่าง อาจเพราะเศรษฐกิจหรือโรคระบาดที่ทำตามแผนงานไม่ได้ แต่ด้วยทิศทาง และพาร์ทเนอร์ที่เราดึงเข้ามามันจะทำให้เราสามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้”

“เพราะเรามองว่า ด้วยเทคโนโลยีของเรามีโอกาสในตัวตลาดโลก” คุณเอ็กซ์ วรวุฒิ ปิดท้าย

อ่านเพิ่ม: อย่าโทษเกม: 7 โปรเพลเยอร์ชีวิตดีเพราะอีสปอร์ต