“สส.ท็อป” ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส. ระยอง จากพรรคก้าวไกล เติบโตจากเกมเมอร์ก่อนเข้าสู่การเมืองที่ทำงานควบคู่ไปกับการเล่นเกม และงานด้านอีสปอร์ต แต่การผลักดันที่มีรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง ยังไม่เคยเกิดขึ้นตามที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้เขายังคงมุ่งหวังที่จะเป็นกระบอกเสียงให้ชาวอีสปอร์ตทำให้อุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยเติบโตไปในทิศทางที่ควรเป็น 

แนวคิด และการผลักดันที่ สส.ท็อป ทำไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทิศทางต่อจากนี้ และสิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญคืออะไร ติดตามไปพร้อมๆ กับบทสัมภาษณ์ ONE Esports


ศึกษา / ลงมือทำ / รับรู้ปัญหา

จาก EP.1 สส.ท็อป บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาที่ครั้งหนึ่งเคยลงลึกกับอีสปอร์ตจนเลือกเดินตามความฝันเพื่อเป็นโปรเพลเยอร์ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขายังคงอยู่กับวงการอีสปอร์ต โดยเฉพาะบทบาทการทำงานด้านการเมืองที่เคยนำเรื่องอีสปอร์ตเข้าไปพูดคุยในสภาเพื่อหาแนวทางสนับสนุนพัฒนาอย่างจริงจัง

“สมัยเป็นผู้ช่วย สส.โรม (รังสิมันต์ โรม) เคยส่งทีมอีสปอร์ตแข่งขันเป็นชื่อ รังสิมัน โรม เกมมิ่ง รวมเด็กๆ ที่สนใจ แต่ไปแพ้โปรเพลเยอร์ ก่อนหน้านั้นผมก็เคยเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต ที่ประธานคือคุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ (อีกหนึ่งสส.ก้าวไกล ผู้เป็นเกมเมอร์ตัวยง) ผมเป็นรองประธานคนที่สอง”

“ตอนนั้นเราทำเล่มรายงานเล่มหนึ่ง แต่ไม่ทันเพราะเป็นปลายสมัยประชุมสภา ผมเคยคุยกับคนที่อยู่ในแวดวงนี้ว่า การส่งเสริมจากภาครัฐ เม็ดเงินที่ออกจากประเทศไปบริษัทเกมต่างประเทศเราจ่ายออกไปเยอะ ถือเป็นตลาดที่โตมาก แต่จ่ายกลับเข้ามาในประเทศน้อยมาก เราส่งเสริมกันน้อยมาก มันเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่าหนังและเพลงอีกนะ แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้มากพอ เพราะพอตลาดอยู่ในจุดเดียวกับที่รัฐสนับสนุนได้มากกว่า อีกทั้งภาพลักษณ์ของเกมมักโดนเป็นตัวร้ายของสังคมเสมอเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรแย่ๆ เวลามีเหตุอะไรคนก็ชอบพูดว่า เพราะเกมอีกแล้ว”

“แต่เด็กหลายคนอาจจะอยากเป็นสถาปนิกเพราะ The Sim ก็ได้นะ ทำไมคนไม่มองจุดนี้ เราก็อยากจะ Recap ภาพลักษณ์ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ทำให้เห็นว่า เกมเป็นความบันเทิงแขนงหนึ่งที่คนเข้าถึงได้ แต่รัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ และควรจะสนับสนุนอย่างไร พร้อมจะแชร์เพื่อเติบโตไปด้วยกันหรือไม่”

สส.ท็อป มองว่า หากรัฐบาลปัจจุบันต้องการให้ความสำคัญกับ Soft Power จริง เกมก็เป็น Soft Power ที่ควรสนับสนุน และต้องสนับสนุนโดยตรง มีส่วนร่วม และเติบโตไปด้วยกัน

“ถ้ารัฐบาลนี้บอกว่า สนับสนุน Soft Power  จริง ผมรู้สึกว่า เป็นเรื่องดี แต่การสนับสนุนด้วยการไปมอบถ้วย มอบโล่รางวัล แต่ไม่เคยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโดยตรง เกมยากอีกอย่างหนึ่ง อย่างฟุตบอลถ้าจะแข่งก็จัดได้เลย แต่แข่งเกม สมาคมอีสปอร์ตต้องไปขออนุญาตบริษัทเกมต่างๆ อย่าง RoV ไปขอ Garena เป็นต้น เรื่องนี้มีเล่มรายงานแล้วมันยิบย่อยมาก แต่ผมคิดว่ามันต่อยอดได้ในการพูดเรื่องนี้”

“ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุน Soft Power อย่างจริงจัง ผมอาจจะลองอีกสักตั้งเดินสายขอคุยกับบริษัทเกมทั้งในไทย และต่างประเทศว่า ใครจะเอายังไงกับเรื่องนี้แน่ๆ ผมพร้อมช่วยรัฐบาลผลักดันเป็นอย่างยิ่ง แต่ขอให้รัฐบาลจริงใจ และเปิดรับจริงๆ ก่อนในตอนนี้”

สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย หรือ TESF อยู่ภายใต้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ส่วนการส่งเสริมวงการเกมที่เป็นผู้พัฒนาจะอยู่ในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ สส.ท็อป มองว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ทำหน้าที่หลักที่จะสามารถตัดสินใจว่าจะส่งเสริมอีสปอร์ตอย่างไร

นอกจากนี้ สส.ท็อป กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เรื่องนี้จะกลายเป็นวาระแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีจะหยิบมาพูดคุยก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมมองว่า เขาไม่เห็นด้วยที่เวลาผู้พัฒนาเกมของงบจากรัฐ ซึ่งเกมๆ หนึ่งใช้งบพัฒนาหลายด้านเป็นร้อยล้าน แต่รัฐให้มาแสนเดียว แล้วบอกว่ามีส่วนร่วมก็คงไม่ใช่



กระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูก

“ผมคิดว่า ต้องเริ่มจากทบทวนจุดยืนของรัฐจากสิ่งที่ตัวเองให้ความสำคัญ” สส.ท็อป กล่าวถึงสิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำโดยเร็วที่สุดสำหรับการส่งเสริมอีสปอร์ต

“ผมแยกอีสปอร์ตกับเกมออกจากกันก่อน เกมมีทั้งผู้พัฒนา ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย มีส่วนที่เป็นผู้จัดการแข่งขันที่ทำให้เกิดอีสปอร์ตขึ้นมา และมีสมาคมฯ ในหลายภาคส่วน แต่จนถึงจุดนี้เรายังไม่เห็นบทบาทของรัฐเข้ามาส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการให้แต่ละหน่วยงานเข้ามาร่วมพูดว่า ฉันทำอะไรได้บ้าง และให้เอกชนพูดว่า อยากให้รัฐช่วยอะไรบ้าง และรัฐตอบว่า จะช่วยโดยมีเงื่อนไขอะไร”

“อย่างเกาหลีใต้รัฐเขาเข้ามาแชร์ล่มหัวจมท้ายไปด้วยกันจนทำให้อุตสาหกรรมเกมไปถึงขั้นออกกฎหมายห้ามการปั้มแรงค์ ห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องแรงค์กิ้งของเกม รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในระดับกฎหมายได้ทำให้วงการเกมบ้านเขาเติบโตแข่งขันได้”

“อย่างรัฐไทยกับการลงทุนง่ายๆ คุณอาจซื้อลิขสิทธิ์ TI (The International การแข่งขันชิงแชมป์โลก Dota 2)มาฉายสักครั้งดีไหม ไม่ต้องให้เอกชนทำ รัฐจะทำอะไรสามารถทำได้หลายอย่างอยู่ที่ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นๆ มากแค่ไหน”

“ถ้ารัฐไทยเริ่มจัดเสวนาโดยภาครัฐร่วมกับเอกชนทุกภาคส่วนเพื่อเป็น Soft Idea ไปก่อนก็ได้ ผมว่าคงใช้งบประมาณไม่ได้เยอะในการจัดเสวนาสักครั้ง และให้ความสำคัญกับวงการเกมที่ออกไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมากกว่าการเปิดทำเนียบต้อนรับเวลาพวกเขาไปได้เหรียญมาแล้ว แต่คุณต้องเริ่มตั้งแต่เดินไปกับเขา ต้องเป็นส่วนหนึ่งกับเขา”

สส.ท็อป เล่าว่า เขาเคยคุยกับ ไชยชนก ชิดชอบ ผู้ก่อตั้ง Buriram United Esports เพราะนี่คือหนึ่งในผู้ผลักดันอีสปอร์ตไทยมาตั้งแต่ต้น โดยแลกเปลี่ยนถามความคิดเห็นว่า จะทำอย่างไรกับอีสปอร์ต แต่ก็ยังไม่รู้จะใช้ช่องทางใดนำเรื่องนี้เข้าสู่สภา

“เขา(ไชยชนก ชิดชอบ)ก็สนใจนะ แต่ยังไม่รู้จะใช้ช่องทางไหนผลักดันในสภาดี เพราะถ้าผมอภิปรายในสภาเรื่องเกมมันจะมีผลต่อรัฐแค่ไหน จะได้พูดหรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่ยังไงก็ต้องพูด เพราะมันคือวาระที่ ผมคือตัวแทนหนึ่งในสิบล้านคนจากทั่วประเทศที่ได้บอกว่า ประเทศไทยควรคุยเรื่องนี้จริงจังแค่ไหน”

“เราควรเริ่มตั้งแต่ภาพลักษณ์ของประเทศในการมีส่วนร่วมบอกว่า เกมให้อะไรกับสังคม และคนควรใช้ชีวิตกับเกมอย่างไรบ้าง ผมพร้อมใช้ทุกเวทีที่มีไม่ว่าจะเป็นงานออนไลน์หรือในสภาเท่าที่จะทำได้”


อีสปอร์ตสื่อกลางใกล้ชิดผู้คน

การผลักดันอีสปอร์ตให้เป็นวาระพูดคุยในสภา อาจยังอยู่ในช่วงที่ต้องรอคอยต่อไป แต่จากกระแสยื่นบัญชี RoV จนเป็นไวรัลของ สส.ท็อป ก็ทำให้เกมกลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงของเหล่าเกมเมอร์ที่อยากพูดคุยปัญหาการเมืองไปโดยปริยาย

“หลังเปิดบัญชีทรัพย์สินไปในทวิตเตอร์มีคนอยากเล่นเกมกับผม ผมเลยเปิด Openchat ขึ้นมาให้ใครเข้ามาตีป้อมกับผมก็ได้ ตอนแรกจะลงแรงค์ แต่ RoV มีแรงค์หลากหลายเขาเลยมาแบบตี้กันเองแบ่งทีมตีกันทุกคืน”

“ตอนนี้มีคนมาสตรีมให้แล้ว มีคนมาเล่นด้วยทุกคืน 4 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม 2-4 เกมแล้วแต่ผมไหวแค่ไหน ก็เป็นการกระตุ้นให้คนรู้สึกว่า เราไม่ได้ต่างกับเขา เราเป็นคนธรรมดาเหมือนกัน แล้วก็มีคนในห้องเป็นวัยรุ่นเข้ามาถามว่า ยังต้องเกณฑ์ทหารอีกไหม ผมก็เอาสิ่งที่ผมไปคุยมาเล่าให้เขาฟัง ผมทำให้เกมกับการเมืองเป็นเรื่องปกติที่เราคุยกันได้นี่คือสิ่งที่ผมพยายามทำ”

“เมื่อก่อนคนรู้สึกว่า สส. เป็นเรื่องไกลตัว และรู้สึกว่าเกมใกล้ตัวเขามากกว่า ซึ่งการมี พี่สส. ที่เล่นเกมกับเขาไว้คอยรับฟังปัญหาที่เขารู้สึกว่า ทำไมประเทศเป็นแบบนี้ ผมว่ามันทำให้ใกล้ชิดมากขึ้น”

“ผมก็ไม่ใช่ Influencer ที่โด่งดัง แต่บางครั้งเราก็อยากจะฟัง Influencer ด้านเกมคนอื่นๆ บอกว่า เขาคาดหวังอะไรจากประเทศนี้เพื่อให้อาชีพด้านการงานสิ่งที่รักอย่างเกมมันไปในทางที่ดี ผมอาจจะตัดสินหรือสื่อสารในมุมผมโดยข้อมูลไม่ได้ถูกต้องเหมาะสม 100% ก็ได้”

“ผมจึงอยากมีพื้นที่สื่อสารให้เขารู้สึกว่า เกมก็พาไปพูดเรื่องความฝันในทิศทางที่เขามีผู้แทนพูดในเรื่องของเขาได้มากขึ้น”

อีสปอร์ตสื่อกลางใกล้ชิดผู้คน

นอกเหนือการเปิดพื้นที่ และเป็นตัวแทนให้กับเหล่าเกมเมอร์แล้ว สส.ท็อป ยังมีแผนเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวบันทึกเส้นทางการเมืองของตัวเอง ของเกมเมอร์คนหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร

“ผมอยากทำบันทึกเส้นทางของผมเองเพื่อบอกเล่าว่า ผมเจอกับใครผ่านเวลานั้นมาอย่างไรบ้าง เพราะเราเป็นคนเบื้องหลังไม่มีตัวตน เล่าเรื่องราวของคนที่เดิมมาจากเป็นอาสาสมัครของพรรค เดิมมาจากการเป็นผู้ช่วยสส. และลงเลือกตั้งแบบไม่มีอะไรจะเสีย การอภิปรายแต่ละครั้งให้ออกมาดีเป็นอย่างไร”

“ผมอยากทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาของเกมเมอร์คนหนึ่งที่ใช้เวลาตอนกลางวันทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนส่งเข้าสภาบรรจุวาระเตรียมการอภิปรายประชุมกรรมการ ส่วนตอนเย็นหลังเลิกงาน ผมได้เล่นเกมกับประชาชน เป็นคนธรรมดาใช้ชีวิตแบบที่ชอบแล้วก็เล่าเรื่องเกมในแมตช์ที่ผมชอบก็อยากจะเล่า”
“เกมพาคนหลายคนในโลกมาเจอกัน และมีเรื่องราวร่วมกันผมอยากจะเล่าเรื่องราวพวกนี้ให้ทุกคนได้รู้” สส.ท็อป ทิ้งท้าย

อ่านเพิ่ม: สส.ท็อป EP.1 : จากเกมเมอร์สู่เส้นทางการเมือง ชีวิตอีกด้านของ สส. ไวรัลที่เติม RoV เกือบแสน