ด้วยฝีมือสุดเทพ หยอดมุกแซวจนสาวหลง บุคลิกดูเป็นหนุ่มมาดกวน พูดเก่ง อารมณ์ดี คือภาพจำของ สตรีมเมอร์คนดัง PUBG Mobile ของ Buriram United Esports ที่ทำให้ทุกคนหลงรัก และชื่นชมกับลีลาเอนเตอร์เทนของเขาที่พร้อมทำให้ทุกคนอมยิ้มตลอดเวลา

แต่กว่าจะเป็นสตรีมเมอร์ที่มีผู้ติดตามเกือบ 800,000 คนได้อย่างทุกวันนี้ ในอดีตเขาเป็นหนุ่มขี้อายเก็บตัว และไม่กล้าที่จะเอ่ยคำพูดในระหว่างสตรีม ยิ่งกว่านั้นครั้งหนึ่งเคยทำให้พ่อแม่เสียน้ำตา แต่หยดน้ำตาในครั้งนั้นทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปทันที และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เค้าก้าวมาสู่การเป็นสตรีมเมอร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

นี่คือเรื่องราวของ VOORRIXxx – วอ พรหมศิลป์ อุยสกุล กับเบื้องหลังชีวิตที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน…

มีเกมเป็นเพื่อน

May be an image of child, standing and body of water
Credit: VOORRIXxx

ในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน เกม คือความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ตัดกันไม่ขาด ช่วยคลายเหงา และเติมเต็มความสนุกให้กับชีวิต เช่นเดียวกับวัยเด็กของ วอ หรือที่รู้จักในชื่อ VOORRIXxx สตรีมเมอร์อารมณ์ดี ที่เติบโตมากับการเล่นเกม

แต่สำหรับเขาอาจต่างจากคนอื่นเล็กน้อย เกมไม่ต่างจากเพื่อนรู้ใจ ไม่ใช่แค่ให้ความสนุก แต่ยังช่วยให้เขามีความสุขในโลกอีกใบ และเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่อยู่เคียงข้างมาตลอด เพราะพ่อแม่ของเขาต้องทำงานหาเงินอย่างหนัก โดยทำธุรกิจร้านผ้าม่านที่จังหวัดลพบุรี แต่ด้วยความที่มีหลายสาขาทำให้ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว วอ จึงอาศัยอยู่กับน้องชายสองคนตั้งแต่ 10 ขวบ โดยมีญาติพี่น้องใกล้เคียงช่วยดูแล และมีเกมเป็นเพื่อนสนิท

“ผมใช้ชีวิตอยู่กับน้องชายสองคนมาตั้งแต่เด็ก” วอ เท้าความถึงวัยเด็ก

“พ่อแม่ทำงานหนักคอยส่งเงินมาให้อย่างเดียว แต่ก่อนร้านผ้านม่านที่ทำอยู่ลพบุรี แล้วก็ย้ายไปนครสวรรค์บ้าง กรุงเทพบ้าง อาทิตย์หนึ่งจะกลับมาหาผมกับน้องชาย แต่เขาหาเงินเต็มที่ไม่เคยให้เราขาดเหลือ อยากได้อะไรเขาก็หามาให้ เขาทำงานหนักมากๆ ผมไม่เคยน้อยใจที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ผมภูมิใจมากที่เขาเลี้ยงผมกับน้องเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างดี”

“ผมเล่นเกมตั้งแต่ 3 ขวบ พ่อกับแม่ต้องไปทำงานหาเงิน ก็ทิ้งไว้ร้านเกม ป้าผมเปิดร้านเกมผมเล่น ragnarok เป็นเกมแรก แต่พ่อแม่แบ่งเวลาให้นะ ช่วงเที่ยงเขาก็มาดูว่า กินข้าวหรือยัง เย็นก็มารับกลับบ้านไปออกกำลังกาย คือถ้าหมดเวลาจากร้านเกมจะไม่ให้เล่นอีกเลย”

“ตอนอายุ 13 ปี ผมติดเกมมากเกินไป เกมทำให้มีความสุข แต่มีผลเสียภายหลัง ผมเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ 3-4 ขวบ ซ้อมเป็น 10 ปี ได้เป็นตัวโรงเรียน แต่มาเลิกตอนอายุ 13-14 ปี เพราะติดเกมหนัก”

จากเด็กที่ชอบฟุตบอล ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวพร้อม ๆ กับน้องชายที่ชอบฟุตบอลเหมือนกัน แต่ด้วยใจที่เทให้เกมมากกว่า ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง จากที่ได้เป็นถึงนักกีฬาตัวโรงเรียน วอ ติดเกมหนักขึ้นจนแทบไม่ได้ซ้อม ผลงานเรียนแย่ลงจนสุดท้ายตัดสินใจขอพ่อเลิกเตะบอล โดยอ้างว่า เรียนหนัก งานเยอะ แต่จริงๆแล้วเขาต้องการใช้เวลาเล่นเกมเต็มที่

“ตอนนั้นที่บ้านมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว น้องผมยังไปทางฟุตบอลอยู่เหมือนเดิม พอเวลาน้องชายไปเตะบอล ผมก็จะได้เล่นมากกว่าเขา ช่วงนั้นกลายเป็นจุดพีคเลย เลิกเล่นบอลแล้วติดเกมหนักมาก กระทบการเรียนด้วย”

“ผมอ้างว่า ไม่สบายไปเรียนไม่ไหวเพื่อจะได้อยู่บ้านเล่นเกม ค่อนข้างเกเรพอสมควรเลย เสียทั้งการเรียน และกีฬาที่เราฝึกจริงจังมาตลอดทั้งการซ้อม และแข่งขัน เพราะตอนเด็กผมอยากเป็นนักฟุตบอล ชอบมาก แต่พอติดเกมทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป”

“ตอนขอพ่อ เขาไม่โอเคหรอก ผมก็อ้างสารพัด เรียนหนักต้องอ่านหนังสือไม่มีเวลา แต่ผมไม่ได้เรียนแย่ก็ปานกลาง อ้างจนเขาเข้าใจ เพราะยังมีน้องที่เล่นต่อ เขาก็ฝากความหวังที่น้องชาย ผมไม่เอา แต่ก็ยังดีที่น้องยังเล่นอยู่ แต่ที่บ้านไม่ได้คาดหวังว่า โตขึ้นจะต้องทำอะไร แต่เขาอยากให้ลูกทุกคนได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า ตอนเด็กผมตอบเขาไม่ได้หรอกว่า อยากเป็นอะไร แค่อยากเรียนให้จบก่อน ผมตอบไม่ได้ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร”

หลังตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอล วอ มีเวลาเล่นเกมเต็มที่อย่างที่ต้องการ ในหนึ่งวันเขาใช้ชีวิตอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ แต่ความสุขที่เขาได้รับจากเกม กำลังทำให้ทุกอย่างแย่ลง

น้ำตาเปลี่ยนชีวิต

May be an image of 1 person
Credit: VOORRIXxx

วอ ยอมรับว่า ณ เวลานั้นเขากลายเป็นเด็กติดเกมหนัก และเกเรมากขึ้นมีเรื่องชกต่อย จนถึงขั้นโดนไล่ออกโรงเรียนตอนมัธยมศึกษาปีที่ 2 นั่นทำให้ วอ โดนจำกัดเวลาเล่นเกม ซึ่งต่อมามีเหตุการณ์ที่สร้างวีรกรรมที่เขายังรู้สึกผิดจนถึงวันนี้

“ตอนติดหนักเป็นจุดพีคชีวิตผมเลย ผมโดนย้ายมาอยู่นครสวรรค์ เพราะพ่อแม่รู้สึกว่า เราดูแลไม่ได้แล้วเริ่มเกเรกว่าเดิม เขามีมาตรการปิดอินเตอร์เน็ตหลังสี่ทุ่มทุกวัน แต่ที่พีคคือหลังๆผมติดร้านเกม เพราะการเล่นที่บ้านมันเหงา ผมเลยแอบออกจากบ้านไปเล่นตอนอายุ 14 ปี” 

“ทุกวันพ่อผมจะนอนประมาณ 4 ทุ่ม ตื่น 05.00 น. ตอนนั้นผมไม่ได้เรียนด้วยระหว่างเวลาที่พ่อนอนผมจะให้เพื่อนที่ร้านเกมมารับหน้าบ้านเพื่อแอบไปร้านเกมด้วยกันก็แอบพ่อไป กลับมาบ้านอีกทีก็ก่อนตีห้า เพราะถ้าพ่อผมขึ้นนอน เขาจะไม่ลงจากบ้านอีกเลย ถ้าไม่ถึงตีห้า ผมแอบเขาเล่นได้เป็นเดือน จนเขาเริ่มสงสัยว่า ลูกหายไปไหน”

“จนวันหนึ่งเขาไม่เจอผมแล้วก็ออกไปตามหาผมข้างนอก วันนั้นเขาร้องไห้เลยนะ ไปแจ้งตำรวจด้วยว่า ลูกตัวเองหายเขาไม่คิดว่า ลูกจะหนีออกไปข้างนอก แล้วตอนนั้นผมกลับมาพอดี จนสุดท้ายผมก็ยอมรับ ว่า ไปไหนมาก็โดนตีไปทีหนึ่ง จากนั้นผมก็ไม่หนีไปร้านเกมอีกเลย แต่ยังเล่นเกมเหมือนเดิมแค่เบาลง”

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ วอ ตัดสินใจเลิกพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่ของเขาเสียใจ นั่นคือน้ำตาของคนเป็นพ่อที่ไหลออกมาในคืนที่ออกตามหาลูก ด้วยความรัก และความเป็นห่วงกลัวลูกชายกลัวจะมีอันตราย 

“วันนั้นหลังเห็นน้ำตาพ่อแม่ก็คิดว่า เราทำอย่างนั้นไปทำไม ผมคิดว่า ผมควรจะต้องปรับตัวใหม่ ก็ไปลองคุยกับเขาว่า เราอยากเล่นเกมนะ พ่อพอจะมีเวลาให้ผมไหม ผมเล่นเกมแล้วมีความสุข ลึกๆผมเป็นคนเงียบเก็บตัว ไม่ชอบสังคมไม่ชอบเจอคน ผมชอบอยู่ในเกม”

“เวลาอยู่ในเกมหรือโลกออนไลน์พิมพ์คุยกันมันสนุก เหมือนเราได้มีเพื่อน แต่โลกความจริงผมไม่อยากเจอคน อยู่ในนั้นผมมีความสุขกว่า โลกความจริงไปเจอเพื่อน แต่โดนเพื่อนแกล้งมันไม่เห็นสนุกเลย อีกอย่างผมเป็นคนขี้อาย เงียบ ไม่อยากคุยกับใคร”

แม้การคุยแบบเปิดอกอาจไม่ได้ทำให้พ่อของเขายินดีนักที่จะให้ลูกชายยอมเล่นเกม แต่สุดท้ายเมื่อเกมคือความสุข คนเป็นพ่อก็ยอมที่จะให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นไปในทางที่ดี วอ กลับตัวเป็นคนใหม่ เขาไม่เกเร มั่งมุ่นตั้งใจเรียนจนจบปริญญาตรีนำความภาคภูมิใจมาให้พ่อแม่ได้สำเร็จ ซึ่งระหว่างนั้นก็เป็นช่วงเดียวกับที่เขาเริ่มสัมผัสโลกของการแข่งเกมจริงจัง

แชมป์ RoS

May be an image of 2 people and people smiling
Credit: VOORRIXxx

ย้อนกลับไปเกือบ 4 ปี ก่อน Rules of Survival(ROS) เปิดตัวขึ้นด้วยรูปแบบ Survival บนมือถือเจ้าแรกๆที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เริ่มมีการจัดแข่งขันเป็นทางการ วอ ที่เป็นสาย FPS และเคยแข่ง SPECIAL FORCE และ Point Blank อยู่แล้วก็ไม่พลาดที่จะโชว์ฝีมือใน RoS 

อย่างไรก็ตามเดิมทีเรื่องแข่งจริงจังเป็นอาชีพยังไม่มีในความคิด เพราะในยุคนั้นเงินรางวัลชนะเลิศน้อยนิดแค่หลักพันต้นๆเท่านั้น แต่การแข่งขัน RoS ทำให้มุมมองของเขาเปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนผมไม่ได้มองว่า เกมมันสามารถได้เงินมาเลี้ยงชีวิตได้ จนวันหนึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้ไปแข่ง RoS ก็เพิ่งรู้ว่า โห การแข่งเกมมันได้เงินเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ต่างจากตอนเด็กคนละเรื่อง ผมคิดต่อว่า ถ้าเราเข้าไปอยู่ในวงการเกม ได้แข่งต่อ ได้เป็นสตรีมเมอร์ จะได้เงินรางวัลอีกตั้งเท่าไหร่ หลังจากนั้นผมวางแผนอนาคตตัวเองเลยว่า เราต้องมาทางนี้ และมีสังกัดได้ไปแข่งต่างประเทศ”

วอ ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางแข่งเกม เริ่มแรกเขาเล่นกับเพื่อนจนทำคะแนนสูงติดท็อปแรงค์ของเกมจนมีทีมในเกม RoS ชวนไปทดสอบ กระทั่งลงเอยกับ OFGOD ซึ่งตอนแรกเขาคิดอยากลองลงแข่งเล่นๆไม่ได้หวังผ่านเข้ารอบลึกๆหรือคว้าแชมป์ เพราะยังเรียนอยู่

ทว่าผลที่ออกมากลับดีเกินคาด เพราะตั้งแต่รอบแรกที่เปิดแข่งคัดทีมจาก 1,000 ทีม ให้เหลือ 16 ทีม FOGOD โชว์ฟอร์มดีจนติดเป็น 1 ใน 16 ทีม สุดท้าย ได้ไปแข่งรอบออฟไลน์ที่กรุงเทพมหานคร ในศึก RoS SEA CUP 2018 ชิงแชมป์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“ตอนไปถึงกรุงเทพฯ ได้เห็นเวทีแข่งจริงความรู้สึกแบบ โอ้โหนี่เหรอเวทีของนักแข่งที่เราเคยดูตอนเด็กๆ เวทีใหญ่มาก มีกองเชียร์ข้างสนาม จากเด็กที่อยู่มุมห้องเงียบๆคนเดียว มาวันนั้นผมได้โดดเด่นขึ้นมาอยู่บนเวทีมีคนจับตามอง มันยิ่งใหญ่อลังการ ผมรู้สึกภูมิใจมาก”

OFGOD ของ วอ ฝ่าฟันจนเป็น 1 ใน 3 ทีม ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งรอบสุดท้ายชิงแชมป์ SEA กับทีมตัวแทนจากหลายประเทศ แน่นอนว่า การผ่านเข้ามาถึงรอบนี้คือสิ่งที่เหนือความคาดหมายของ วอ ไปมาก ยิ่งกว่านั้น วอ และทีมยังสามารถจบทัวร์นาเมนต์ด้วยการเป็นแชมป์สำเร็จ นอกจากเป็นทีมไทยทีมแรกที่ได้แชมป์ SEA ของเกม RoS นี่ยังเป็นแชมป์ทางการครั้งแรกของ วอ ที่เปิดประตูสู่เส้นทางโปรเพลเยอร์เต็มตัวอีกด้วย

หลังจบรายการนั้น วอ รับเงินรางวัลก้อนโต สิ่งแรกที่เขาทำคือเดินทางกลับบ้านเพื่อมอบเงินให้กับผู้มีพระคุณ พ่อแม่ของเขานั่นเอง

“พอทางบ้านเขารู้ว่า เราแข่งเกมแล้วทำเงินได้ เขาโอเคมากๆ ไม่คิดว่าลูกตัวเองจะทำได้ขนาดนี้เขาก็ไปคุยกับญาติว่า ลูกชายเล่นเกมแล้วได้เงินนะ คนอื่นก็งงว่า เล่นเกมมันจะได้เงินยังไง จริงหรือเปล่า แต่ที่บ้านเขาเข้าใจแล้วก็สนับสนุนตั้งแต่นั้น ผมมีพ่อแม่อยู่เบื้องหลังมาตลอด”

ช่วงเวลานั้นคือสิ่งที่เขารอคอยมานาน เขามีเงิน มีครอบครัวที่เข้าใจ เปิดใจให้ทำสิ่งที่รัก ยิ่งกว่านั้นหลังจบ RoS SEA CUP 2018 เขาได้รับการติดต่อจากทีมระดับโลกอย่าง Fnatic ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนทีม

จากการร่วมงานกับ Fnatic เส้นทางโปรเพลเยอร์ของเขามั่นคงเป็นมืออาชีพมากขึ้น ประกอบกับเป็นทีมที่เขาตามเชียร์มามากกว่า 10 ปี ทำให้ วอ มุ่งมั่นให้กับการแข่ง RoS ที่อยากพัฒนาฝีมือตลอดเวลาเพื่อไปให้ไกลกว่านี้

แต่หลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างกลับไม่เป็นแบบที่คิดกับหลายเรื่องราวที่ทำให้เขาถึงขั้นตัดสินใจหันหลังในการแข่งเกมหลังโลดแล่นไปเพียงปีเดียว



เลือกทางเดินที่ใช่

เดิมทีก่อนร่วมทีม Fnatic เขาผันตัวไปเป็นสตรีมเมอร์ เพราะเป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว เขาใช้เงินทุนจากการแข่งเกมก้อนสุดท้ายที่เหลือจากให้พ่อแม่จำนวน 50,000 บาท ซื้ออุปกรณ์ โดยการสตรีมครั้งแรก วอ มียอดผู้ชมเพียง 10 คน แต่แม้จะน้อยนิด เขาก็ดีใจที่มีคนติดตามสิ่งที่เขาตั้งใจทำ

จากนั้นเขาเปิดช่อง Youtube เริ่มสตรีมต่อเนื่องจนมีคนติดตามกว่าร้อยคน ซึ่งเขาใช้เวลาเพียง 14 วัน หลังจากเปิดเพจก็ประสบความสำเร็จ เมื่อ Facebook Creator ดึงเข้าสังกัด ก่อนที่ต่อมาจะกลับมาแข่งขันอีกครั้ง หลัง Fnatic มาคว้าไปร่วมทีม

“ตอนแรกหลังจบ RoS SEA CUP 2018 ผมได้เป็นสตรีมเมอร์กับ Facebook Gaming Creator แต่ Fnatic เข้ามาทำทีม ผมก็ออกมาอยู่กับ Fnatic เป็นนักแข่งอยู่ประมาณหนึ่งปี หลังได้เซ็นสัญญากับทีม” วอ เล่าถึงช่วงเวลาที่ได้เป็นนักแข่งของ Fnatic

“จากนั้นก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านคอมเมนต์แย่ๆ คนดูถูกบ้างว่า เราเข้ามา Fnatic พอมีสังกัดไม่มีพัฒนาเลย ไม่เคยได้ที่หนึ่ง ซึ่งผมน้อยใจมากทั้งๆที่เราก็ซ้อมทุกวัน ทุกๆวันจะต้องไปสตรีมในกลุ่มเพื่อให้ผู้จัดการทีมรู้ว่า เราซ้อมแล้ว ซ้อมหนักพอสมควร แต่ก็ยังโดนดูถูก”

Fnatic คือทีมใหญ่ที่มีชื่อเสียง จึงไม่แปลกที่หลายคนคาดหวังว่า ทีมจะต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น วอ จึงต้องแบกรับความกดดันอย่างหนักตลอด 1 ปี เขารับได้กับคำตำหนิต่างๆ แต่วันหนึ่งขีดจำกัดก็มาถึงจากคำพูดของใครบางคนที่ฝังแผลใจให้กับเขา

“ต้องบอกว่า RoS มันก็มีหลายองค์ประกอบ อย่างเรื่องวงในเกมฯลฯ ส่วนทีมอื่นๆเขาก็ซ้อมหนักเหมือนเรา แต่เราก็โดนดูถูก จนถึงวันหนึ่งผมรู้สึกไม่ชอบเลยเจอคนมาด่าว่า ตั้งแต่ผมดูคุณมาตอน OFGOD แต่พอคุณมาอยู่ Fnatic คุณไม่พัฒนาเลย เขาคุ้มค่าไหมที่จ้างคุณมา”

“ผมรู้สึกเจ็บมากกับคำคำนี้ วันนั้นหลังจบสตรีมผมร้องไห้เลย ใครจะด่าผมก็ได้นะ ไอ้กาก ไอ้อ่อน ผมไม่ซีเรียสเลย แต่คำแบบนี้ทำผมเจ็บข้างในผมรับไม่ได้ ต้องเข้าใจว่า การรับความรู้สึกของคนเรามันต่างกัน”

“ผมเข้าใจนะว่า ทีมใหญ่ดังๆ เป็นเรื่องปกติที่โดนคาดหวังสูง มันเป็นเรื่องดีที่แฟนติเพราะอยากเตือนสติ แต่ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น คุณเห็นเราแข่ง แต่ไม่ได้เห็นเบื้องหลังที่เราซ้อมจนไม่ได้นอนเห็นแค่แข่งแพ้แล้วมาพูด ตอนนั้นผมเลิกสตรีมไป 5 วัน จนผมรู้สึกว่า การแข่งขันที่ผ่านไป ผมไม่มีความสุขเวลาชนะมีคนยินดี ชม เก่งมาก แต่พอแพ้มีไม่กี่คนที่ให้กำลังใจเรา ทำไม่พี่ไม่ทำแบบนี้ ไม่เข้าวง ไม่ทำแบบนั้น คือในมุมมองคนดู ไม่ใช่คนเล่นอาจไม่เข้าใจว่า ณ ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรต้องทำอย่างไร ไม่เข้าใจสถานการณ์”

“มันทำให้ผมรู้สึกว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาถึงเวลาต้องพักจากการแข่งขันแล้วก็ไปเป็นสตรีมเมอร์ดีกว่า”

วอ ยุติเส้นทางโปรเพลเยอร์ 1 ปี ก้าวเดินสู่บทบาทสตรีมเมอร์อีกครั้ง แต่ด้วยความยังติดขี้อาย ไม่กล้าพูด เอนเตอร์เทนคนดูไม่เป็น ทำให้การสตรีมช่วงแรกมีคนดูเพียงน้อยนิด

แต่เมื่อเลือกแล้ว ทางเดียวที่เขาจะทำได้คือลบปมด้อยออกไป โดยใช้เกมเอาชนะความกลัวเพื่อประสบความสำเร็จกับอาชีพสตรีมเมอร์

จากเด็กขี้อายสู่สตรีมเมอร์เบอร์ต้นของไทย

May be an image of 2 people
Credit: VOORRIXxx

สตรีมเมอร์ อาจเป็นสิ่งที่เขาเคยใฝ่ฝัน แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้อาชีพนี้คือสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เพราะปมด้อยในตัวเองที่เป็นคนขี้อาย เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมไม่อยากเป็นสตรีมเมอร์ เพราะผมเป็นคนขี้อาย กว่าผมจะเรียนรู้ตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้คนอยากดูเรามันยากมาก ผมฝึกซ้อมตัวเองมากๆ ผมอิจฉาคนที่เขาพูดเก่งๆนะ ทำไมเขาพูดเก่งขนาดนั้นสามารถหาเรื่องมาพูดได้ตลอด พอผมสงสัยผมก็ไปเรียนรู้ เพราะอยากเก่งแบบเขาไปหาข้อมูลอยากพูดเก่งต้องทำยังไง ไปหาหนังสือมาอ่าน ผมจริงจังเพราะอยากทำอาชีพนี้จริงๆ”

“สำหรับผมสตรีมเมอร์ที่ดีเล่นเก่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องพูดคุยเอนเตอร์เทนเก่งด้วย พูดตรงๆว่า สมัยนั้นผมเล่นเก่งมาก แต่ผมไม่พูดอะไรเลย ผมลองผิดลองดูเล่นเกมไปเปิดเพลงรถบั๊มป์ไป แต่หน้าผมไม่สนุกด้วย เหมือนอยู่ในผับแต่ไร้อารมณ์ หน้านิ่งตัวโยกเล่นเกม หวัดดีครับคนดู เหมือนเด็กเห่อพยายามหาตัวเองทำยังไงถึงคนจะมาดูเรา”

“เวลาผมมานั่งย้อนดูตัวเองก็เห็นว่า เออ เราเป็นแบบนี้นะ ขนาดเราดูตัวเราเองยังเบื่อเลยแล้วจะให้ใครเขามานั่งดูเรา ผมนั่งดูตัวเองทุกเวลาทุกนาทีหลังจบสตรีมพยายามเรียนรู้ตัวเองตลอด”

ภาพของ VOORRIXxx หนุ่มอารมณ์ดีที่มอบรอยยิ้มให้คนดูสตรีมตลอดหลายชั่วโมง คือเบื้องหน้าที่เกิดจากความพยายาม แต่เบื้องหลัง วอ ต้องลองผิดลองถูกกว่าจะเจอทางของตัวเอง ได้รู้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถมอบรอยยิ้มให้กับคนที่ยอมเข้ามาดูเขาสตรีม

“อย่างที่บอกสตรีมเมอร์เล่นเกมเก่งอย่างเดียวไม่ได้ มันอาจจะมีคนดูแหละ แต่เขาไม่มีปฏิกิริยากับเรา ผมอยากให้มีคนพิมพ์ 555 ทางสตรีมผมตลอดเวลา มันมีความสุขเวลาเห็นคนเข้ามาดูแล้วขำ มันคือความสุขของผม ตอนเด็กผมเป็นคนเงียบไม่คุยกับใคร ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนยิ้มได้ แต่การมาอยู่หน้าจอ ผมทำให้คนมีความสุขได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ผมรู้สึกโคตรมีความสุขเลย”

“ทุกวันนี้ใครเห็นผมก็ไม่เชื่อหรอกว่า ผมเป็นคนขี้อาย ผมอาจพูดมาก แต่ไม่ได้พูดเก่ง เมื่อก่อนผมพูดแค่สวัสดีครับพี่ นิ่งๆ อือ ก็..ๆ.. ช้าๆไม่มั่นใจในตัวเอง แต่การเป็นสตรีมเมอร์ทำให้ผมเปลี่ยนทุกอย่าง ลึกๆก็ยังขี้อายอยู่บ้าง แต่น้อยลงมาก เพราะงานตรงนี้ทำให้ต้องเจอผู้คนมากมายได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา”

จากสตรีมเมอร์ขี้อาย พูดช้า พึมพำ ไม่มั่นใจในตัวเอง เล่นโชว์สกิลอย่างเดียว เอนเตอร์เทนไม่เป็น วอ เริ่มเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเอง เขาเริ่มเปิดเพลงโยกตาม ลองเอนเตอร์เทนเพิ่มความสนุกให้คนดู จากนั้นเริ่มมีพล็อตการแต่งกาย มีโชว์เป็นดีเจ หยอดมุกสาว ปล่อยช็อตปั่นคนเล่นระหว่างเกมให้คนดูได้หัวเราะจนคล่องขึ้น แต่เขาก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนา เพราะมองว่า การเป็นสตรีมเมอร์ที่ดีต้องมีทุกอย่างรวมอยู่ในตัวคนเดียว

“สตรีมเมอร์มีหลายแบบ อาจเป็นสายเอนเตอร์เทนหรือสายสกิลอย่างเดียว แต่ผมมองถ้าทุกอย่างมีอยู่ในคนคนเดียว คนนั้นรุ่งแน่ ผมพยายามหาความสามารถอื่นๆมาเสริมคือเก่งด้วย ตลกด้วย เป็นดีเจได้ด้วย ลองฝึกดูอาจไม่เก่งมาก แต่ก็ฝึกไป มีอะไรใหม่ๆให้คนดูได้สนุก ผมพยายามพัฒนาตัวเองตลอดไม่ใช่แค่สตรีมไปวันๆ ผมจะทำจนกว่าจะรู้ว่า จุดขายเราอยู่ตรงไหน ซึ่ง 1 ปี ที่สตรีมแบบเงียบๆ ผมมานั่งย้อนดูตัวเงอทุกวันว่า ขาดอะไรต้องพัฒนาอะไรอีกบ้าง”

“อย่างแต่ก่อนผมขี้อาย แต่ก็เริ่มกล้าที่จะคุยกับคนอื่น ผมว่ามันเป็นเรื่องดีนะ เพราะคนขี้อายไม่กล้าคุยกับใครมันเป็นข้อที่ทำให้เราเสียเปรียบกว่าทุกคน มันทำอะไรยาก ความกล้าแสดงออก ถ้ามีไว้ติดตัวมันดี หลายคนถามผมว่า ผมขี้อายไม่กล้าพูดแบบพี่ ผมจะเป็นสตรีมเมอร์ได้ไหม ผมก็ให้เขาดูคลิปเก่าๆตอนสตรีมแรกๆให้เห็นพัฒนาการที่เหมือนเป็นคนละคน”

“เมื่อก่อนผมไม่กล้ามองกล้อง คอมเมนต์ยังไม่กล้าอ่านเลยพวกคอมเมนต์คนที่ไม่ใช่เพื่อนเพราะเราไม่อยากรู้จัก ผมเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์แย่คุยแค่กับพี่น้องที่รู้จักแค่นั้นพอ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แย่ เพราะคนที่ไม่รู้จักแล้วเข้ามาดูเรา เพราะเขาอยากรู้จักเราไง ก็ควรจะอ่านคอมเมนต์เขา”

“หลังจบ 1 ปี ที่ไปเป็นนักแข่ง ผมก็กลับมาอยู่ Facebook Creator ซึ่งชีวิตมันต่างกันเลย เพราะ 1 ปี ที่ผมแข่งผมมีคนติดตามไม่ถึง 70,000 แต่ผ่านไป 1 ปี ของการเป็นสตรีมเมอร์ ผมมีผู้ติดตามมากกว่า 400,000 ผ่านไป 2 ปี ผมมี 750,000”

“มันทำให้ผมรู้สึกว่า การเป็นสตรีมเมอร์คือสิ่งที่เหมาะกับเราแล้ว…”

แบบอย่างคนรุ่นใหม่

May be an image of 15 people
Credit: VOORRIXxx

วอ เติบโตอย่างมั่นคงในวงการสตรีมเมอร์ ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งถูก Buriram United Esports ดึงมาร่วมทีม ซึ่งมีแฟนๆอยากให้เขากลับมาลงแข่ง แต่ วอ ยืนยันว่า การเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เพื่อความสนุกคือสิ่งที่เขาชื่นชอบมากกว่าการซ้อมหนักเพื่อแข่งขันที่ต้องแบกความกดดันมหาศาล

นอกเหนือจากความสำเร็จในฐานะสตรีมเมอร์ วอ ยังเป็นแบบอย่างให้กับเด็กคนอื่นๆที่ใฝ่ฝันอยากเป็นโปรเพลเยอร์หรือสตรีมเมอร์ ซึ่งเขาเองพร้อมเป็นกระบอกเสียงที่อยาให้ผู้ปกครองหรือใครก็ตามได้เข้าใจโลกของอีสปอร์ตมากขึ้น และเปลี่ยนทัศนคติความคิดที่มีต่อเกมในแบบที่ควรเป็น

“ทุกวันนี้บทบาทของสตรีมเมอร์ ทำให้พ่อแม่หลายคนได้เข้าใจว่า การเล่นเกม ถ้าเราไปถูกทาง ส่งเสริมเขาถูกทางแบ่งเวลาการซ้อมของลูกอย่างเด็กอยากเป็นสตรีมเมอร์หรือ Youtuber เราก็อาจให้เขาเรียนรู้ว่า เขาควรจะแบ่งเวลาเท่านี้นะเป็นแค่งานอดิเรก วันหนึ่งเขาก็สามารถทำเงินให้ครอบครัวได้ เหล่าสตรีมเมอร์ก็ทำให้พ่อแม่เห็นว่า มันทำเงินได้นะ และผลักดันวงการอีสปอร์ตไปให้ไกลมากขึ้นได้ด้วย”

“อย่างล่าสุดที่เกมถูกรับรองเป็นกีฬาอาชีพทำให้หลายคนยอมรับ เมื่อก่อนไปพูดกับผู้ใหญ่อยากแข่งเกม  มันก็ดูยังไม่มั่นคงในสายตาเขา หรือกับพ่อแม่ผมถ้าเขาไม่เห็นว่าทำเงินได้เขาก็ไม่เชื่อหรอก ก็แค่เกมจะไปเอาอะไรได้ แต่พอได้บรรจุจริงจังมันมีการแข่งชัดเจนให้คนเห็นก็เหมือนกีฬาฟุตบอลหรืออื่นๆ ซึ่งทำให้เกมถูกยอมรับ มันได้เงิน มันเป็นอาชีพจริงๆที่มีการซ้อม และการแข่ง”

ขณะเดียวกันในฐานะคนที่เคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว วอ พยายามเน้นย้ำว่า คนที่มุ่งมั่นเล่นเกมเป็นอาชีพ และคนติดเกม จะแตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดทำให้ โปรเพลเยอร์มักถูกมองว่า เป็นคนติดเกมบ่อยครั้ง

“คนที่เขาซ้อมเพื่อเล่นเกมจริงๆกับคนติดเกมมันไม่เหมือนกัน ซึ่งคนเข้าใจผิดเยอะมาก จริงๆมันต่างกัน คนติดเกมเล่นไปวันๆไม่มีเป้าหมาย แต่คนเล่นเกมที่ซ้อมจริงจังเขามีเป้าหมาย เขาหาข้อมูลความรู้ วิธีเล่นต่างๆแผนการเล่น ว่าเขาต้องทำอย่างไร ทุกอย่างมันมีเป้าหมายไม่ใช่เล่นไปวันๆ”

เกมพลิกชีวิต

จากคนไม่เคยมีพร้อมทั้งเรื่องเงินทอง ความอบอุ่นในครอบครัวที่ต้องแยกกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก หลายอย่างเป็นปมในใจที่ทำให้เขาตั้งเป้าว่า วันหนึ่งจะต้องทำให้ครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้า และเลี้ยงดูทุกคนได้ด้วยความสามารถของเขา

มาวันนี้ทุกอย่างที่ วอ เคยฝันไว้ก็เป็นจริง เพราะเขาสามารถซื้อรถ ซื้อบ้าน พาครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้า มีเงินเลี้ยงดูทั้งครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงที่หามาด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากสิ่งเดียวนั่นคือ เกม

“เกมทำให้ความครอบครัวของผมมีความสุข เราปลดหนี้ได้ทุกอย่าง จากแต่ก่อนที่พ่อแม่ต้องทำงานหนักไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะตอนยังเรียนอยู่ต้องใช้เงินเยอะมาก แต่หลังเป็นสตรีมเมอร์เต็มตัว เราได้กลับมาอยู่ร่วมกันพ่อแม่ไม่ต้องไปทำงาน”

“เกมทำให้ผมสามารถเลี้ยงครอบครัวได้เลย ใช้คำว่าประสบความสำเร็จขั้นแรก เพราะผมไม่ได้คิดว่า ผมมีผู้ติดตาม 750,000 คน แล้วเหลิง ผมอยากพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เรียนรู้อยู่เสมอ ตอนนี้เกมทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปทุกอย่าง ผมซื้อบ้าน ผมซื้อรถยนต์ ผมได้แทบทุกอย่างจากเกม มีรายได้เลี้ยงพ่อแม่ได้ ไม่ต้องเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเรื่องเงินไปลำบากขายของตลาดร้อนๆ”

“ผมรู้สึกขอบคุณที่เราเล่นจนได้ดีจากเกม เราได้คืนจากสิ่งที่ทุ่มเทไปเป็นสิบเท่า ผมบอกพ่อว่า อยากทำอะไรทำเลยแค่บอกผม ผมอยากให้เขาทำทุกอย่างที่มีความสุข เพราะเขาอยู่กับเราได้อีกไม่นาน”

“เกมทำให้ชีวิตของผมมั่นคง และผมอยากทำทุกอย่างให้ครอบครัวมีความสุข…” วอ กล่าวปิดท้าย

ปัจจุบัน แม้จะมีผู้ติดตามใกล้หลัก 800,000 คน แต่เขายังมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองต่อไปในทุกๆวัน ซึ่งในอนาคตอาจได้เห็น VOORRIXxx ในบทบาท Youtuber กับคอนเทนต์สนุก ป่วน ฮา ให้ได้ติดตามกัน เพราะนอกจากความตั้งใจที่อยากทำให้ครอบครัวมีความสุข วอ อยากสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่เข้ามาติดตามเขาด้วย

เพราะสิ่งเดียวที่ทำให้เขามีความสุขที่สุดกับการเป็นสตรีมเมอร์คือ การได้มอบความสุขให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

อ่านเพิ่ม: G9 : ชีวิตและการเดินทางบนถนนแห่ง PUBG Mobile